การวิเคราะห์ต้นทุนผลตอบแทนและแบบจำลองธุรกิจการเลี้ยงปูนาในจังหวัดกำแพงเพชร

ผู้แต่ง

  • อัครวีร์ จำปีรัตน์ นิสิตบัณฑิตศึกษาสาขาวิชาธุรกิจการเกษตร ภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประเทศไทย
  • จักรกฤษณ์ พจนศิลป์ ภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประเทศไทย
  • สุวรรณา สายรวมญาติ ภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประเทศไทย

คำสำคัญ:

ปูนา, แบบจำลองธุรกิจ, ผลตอบแทนการลงทุน

บทคัดย่อ

บทความนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อ (1) ศึกษาสภาพปัจจุบันของการเลี้ยงปูนาในจังหวัดกำแพงเพชร (2) เปรียบเทียบต้นทุนและผลตอบแทนการเลี้ยงปูนาในจังหวัดกำแพงเพชร และ (3) เปรียบเทียบแบบจำลองธุรกิจของการเลี้ยงปูนาในจังหวัดกำแพงเพชร การศึกษาเก็บข้อมูลจากการสัมภาษณ์เชิงลึกด้วยแบบสัมภาษณ์กึ่งโครงสร้าง โดยการวิเคราะห์ข้อมูลใช้การวิเคราะห์กลุ่ม การวิเคราะห์เชิงพรรณนา การวิเคราะห์แบบจำลองธุรกิจ และการวิเคราะห์ต้นทุนผลตอบแทน ผลการศึกษา พบว่ากระบวนการเลี้ยงปูนาทำได้ในบ่อปูน บ่อกระชังบก บ่อดิน หรือพื้นที่ทำนา สามารถเพาะพ่อแม่พันธุ์เองหรือซื้อมา อาหารปูนาแตกต่างกันตามช่วงวัย การขายจะขายปูนาสภาพดีเป็นพ่อแม่พันธุ์ และขายปูนาที่ไม่สมบูรณ์เพื่อการบริโภคหรือแปรรูป หากผู้ประกอบการมีต้นทุนน้อยควรทำแบบกลุ่มที่ 1 คือ ขายส่งปูสด เนื่องจากเป็นรูปแบบที่ใช้ต้นทุนไม่สูงที่เฉลี่ย 39,916 บาท ขั้นตอนการดำเนินงานไม่ยุ่งยาก และสามารถสร้างรายได้และผลกำไรได้ดีที่เฉลี่ย 54,984 บาท ขณะที่หากผู้ประกอบการมีต้นทุนมาก สามารถทำแบบกลุ่มที่ 2 คือ ขายปลีกทั้งสินค้าสดและแปรรูป โดยใช้ต้นทุนมากกว่าที่เฉลี่ย 76,432 บาท แต่สามารถสร้างรายได้และกำไรได้สูงกว่าที่ 109,043 บาท จากการวิเคราะห์แบบจำลองธุรกิจและเปรียบเทียบพบว่าแบบจำลองธุรกิจกลุ่มที่ 1 เน้นกลุ่มลูกค้าธุรกิจ คุณค่าสินค้าคือสินค้าสด ความสัมพันธ์กับลูกค้าคือการลดราคา ช่องทางการเข้าถึงลูกค้าผ่านการขายหน้าฟาร์ม รายได้จากการขายส่งสินค้าสด พันธมิตรคือฟาร์มปู กิจกรรมหลักคือเพาะพันธุ์ปูนา ทรัพยากรหลักคือพื้นที่ฟาร์มและแรงงานครัวเรือน ต้นทุนคือค่าทำปู กลุ่มที่ 2 เน้นกลุ่มลูกค้าทั่วไป คุณค่าสินค้าคือสินค้าแปรรูป ความสัมพันธ์กับลูกค้าคือการแถมสินค้า ช่องทางการเข้าถึงลูกค้าผ่านหน้าฟาร์ม ออนไลน์ และร้านอาหาร รายได้จากการขายปลีกสินค้าสดและแปรรูป พันธมิตรคือร้านอาหาร กิจกรรมหลักคือเพาะพันธุ์ปูและแปรรูปสินค้า ทรัพยากรหลักคือพื้นที่ฟาร์มและแรงงาน โครงสร้างต้นทุนเกิดจากค่าทำปูและค่าแปรรูป

References

พิมใจ พรหมสุวรรณ และ จิดาภา แหมะหวัง. (2563). การวิเคราะห์ต้นทุนและผลตอบแทนของการเลี้ยงปูในน้ำเค็มและน้ำกร่อยของเกษตรกรหมู่ที่ 4 บ้านปาเต ตำบลวังวน อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง. วารสารเศรษฐศาสตร์และบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยทักษิณ, 12(1), 15-28.

วัชระ เดือนขึ้น. (2563). เลี้ยงปูนา แปรรูป อาชีพทางเลือกที่ได้รับผลตอบแทนเป็นกอบเป็นกำ. สืบค้น 5 เมษายน 2566. จาก https://www.phitsanulokhotnews.com/2020/10/05/146902.

ศรีเพ็ญ พงศ์ทรัพย์เจริญ. (2563). เลี้ยงปูนาน้ำใสบนตึก สร้างรายได้หลักแสน. สืบค้น 1 เมษายน 2566. จาก https://www.rakbankerd.com/agriculture/guru-view.php?id=183.

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. (2563). ประสบการณ์การเลี้ยงปู. สืบค้น 1 เมษายน 2566. จาก https://citly.me/trmUL.

สุขสรร วันเพ็ญ. (2565). การเลี้ยงปูในคอนโดแบบแยกเดี่ยวด้วยระบบน้ำหมุนเวียน. สืบค้น 12 เมษายน 2566. จาก https://www3.rdi.ku.ac.th/?p=75122.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2023-06-11