ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเข้าร่วมกิจกรรมงานวิ่งในประเทศไทยในช่วงภายหลัง การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เริ่มคลี่คลายลง

ผู้แต่ง

  • ภาณุพงศ์ ชัยวิริยะพงศ์ เศรษฐศาสตรมหาบัณฑิต (เศรษฐศาสตร์ธุรกิจ) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประเทศไทย
  • เสาวลักษณ์ กู้เจริญประสิทธิ์ ภาควิชาเศรษฐศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประเทศไทย

คำสำคัญ:

กิจกรรมงานวิ่ง, โควิด-19, ปัจจัยส่วนประสมทางการตลาด

บทคัดย่อ

บทความวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ (1) เพื่อศึกษาถึงพฤติกรรมการวิ่งของกลุ่มนักวิ่ง (2) เพื่อเปรียบเทียบปัจจัยด้านประชากรศาสตร์ที่ส่งผลต่อการตัดสินใจเข้าร่วมกิจกรรมงานวิ่ง และ (3) เพื่อศึกษาถึงระดับความสำคัญของปัจจัยส่วนประสมทางการตลาดที่กลุ่มนักวิ่งให้ความสำคัญต่อการตัดสินใจเข้าร่วมกิจกรรมงานวิ่ง การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงปริมาณ โดยเครื่องมือที่ใช้เก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบสอบถามออนไลน์ ได้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 385 คน สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ การทดสอบความแปรปรวนทางเดียว และการวิเคราะห์สมการถดถอยเชิงพหุคูณ ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มตัวอย่างที่เคยเข้าร่วมกิจกรรมงานวิ่งภายหลังการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 เริ่มคลี่คลายลง ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง มีอายุระหว่าง 31 – 40 ปี ระดับการศึกษาสูงสุดอยู่ที่ระดับปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ประกอบอาชีพพนักงานบริษัทเอกชน และมีรายได้เฉลี่ยส่วนบุคคลต่อเดือนอยู่ที่ 30,001 – 45,000 บาท ด้านพฤติกรรมการวิ่งส่วนใหญ่เข้าร่วมงานวิ่งภายหลังการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ทั้งหมดจำนวน 6 -10 รายการ โดยเป็นการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ เข้ากิจกรรมงานวิ่งในช่วงเช้า เดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัว กลุ่มเพื่อนและสมาชิกในกลุ่มที่ซ้อมด้วยกันเป็นผู้ที่มีอิทธิพลต่อการเข้าร่วมกิจกรรมงานวิ่งมากที่สุด และให้ความสำคัญกับด้านผลิตภัณฑ์และบริการมากที่สุด ผลการวิเคราะห์เปรียบเทียบปัจจัยด้านประชากรศาสตร์และการตัดสินใจเข้าร่วมกิจกรรมงานวิ่ง พบว่า อายุและอาชีพที่แตกต่างกันมีผลต่อการตัดสินใจเข้าร่วมกิจกรรมงานวิ่งในประเทศไทยที่แตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ 0.05 จากสมการถดถอย มีปัจจัยส่วนประสมทางการตลาด ได้แก่ ด้านการนำเสนอลักษณะทางกายภาพ และด้านกระบวนการให้บริการ ที่ส่งผลต่อการตัดสินใจเข้าร่วมกิจกรรมงานวิ่งในประเทศไทย อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ 0.05

References

ชลธิชา เอี่ยมสิทธิพันธ์ และกุลพิชญ์ โภไคยอุดม. (2563). ปัจจัยส่วนประสมทางการตลาดที่ส่งผลต่อการตัดสินใจเข้าร่วมการแข่งขันไตรกีฬา. วารสารวิทยาศาสตร์การกีฬาและสุขภาพ, 22(3), 253-266.

ณัฐพันธุ์ อุไรลักษมี. (2561). การส่งเสริมการตลาดที่ส่งผลต่อการตัดสินใจเข้าร่วมการแข่งขันของนักวิ่งมาราธอนในประเทศไทย. (วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย).

ทรงศักดิ์ รักพวง. (2561). การศึกษาเครือข่ายทางสังคมของกลุ่มนักวิ่งมาราธอน. (ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต, สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์).

ประชาชาติ. (2564). อีเวนต์วิ่งคืนชีพรับคลายล็อก ธุรกิจคึกคักต้นปี’65 งานใหญ่จ่อคิวเพียบ. สืบค้น 11 สิงหาคม 2565. จาก https://www.prachachat.net/marketing/news-811752.

มนัสชนก ไชยรัตน์. (2563). พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปช่วงสถานการณ์ COVID-19 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร. (บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยรามคำแหง).

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย. (2563). ธุรกิจจัดงานวิ่งปี’63: ฝ่าฝุ่น PM2.5 สร้างมูลค่า 1,700 ล้านบาท. สืบค้น 10 สิงหาคม 2565. จาก https://www.kasikornresearch.com/th/analysis/k-econ/business/Pages/z3085.aspx.

ศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน. (2565). ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับ SDGs. สืบค้น 10 สิงหาคม 2565. จาก https://www.sdgmove.com/intro-to-sdgs/.

สุกัญญา มณีอินทร์. (2559). ความพึงพอใจในส่วนประสมทางการตลาดต่อการตัดสินใจเลือกสวนสาธารณะในกรุงเทพมหานครเพื่อการวิ่ง. (วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย).

อ้อมใจ นิลสุวรรณ. (2561). กระบวนการตัดสินใจสมัครวิ่งมาราธอนและวิ่งเพื่อสุขภาพของคนกรุงเทพมหานคร. (บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยรามคำแหง).

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2023-11-01