ประชุมชี้แจงเกณฑ์การประเมินคุณภาพวารสารในฐานข้อมูล TCI ในรอบที่ 5 พ.ศ. 2568-2572 วันพุธที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2566
การประชุมวิชาการเครือข่ายการพัฒนาคุณภาพวารสารวิชาการไทย ครั้งที่ 14 (The 14th Symposium for Thai Journal Development Network)
ศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย [Thai-Journal Citation Index (TCI) Centre] ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) สถาบันนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (STIPI) แห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) แห่งสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้จัดให้มีการประชุมโครงการ “การประชุมวิชาการเครือข่ายการพัฒนาคุณภาพวารสารวิชาการไทย ครั้งที่ 14” ในวันพุธที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2566 ณ ห้องรอยัล จูบิลี่ บอลรูม อาคารชาเลนเจอร์ อิมแพค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี โดยมีบรรณาธิการวารสาร คณะทำงานวารสาร และผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมทั้งสิ้น 1,200 ท่าน โดยมี ศ. ดร.ณรงค์ฤทธิ์ สมบัติสมภพ หัวหน้าศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย (TCI) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวรายงานความเป็นมาและวัตถุประสงค์ และคุณชัชชวิศ เตชะรักษ์พงศ์ (วิกเตอร์) เป็นพิธีกรในการจัดประชุมฯ ครั้งนี้
ศ. นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และประธานกองทุนส่งเสริม ทุนวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม เป็นประธานกล่าวเปิดการประชุม และ บรรยายพิเศษเรื่อง “นโยบายการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ”
ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ที่ปรึกษาศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย (TCI) บรรยายพิเศษเรื่อง “3 ทศวรรษของ TCI เพื่อสู่อนาคต” กล่าวถึงประวัติการก่อตั้งศูนย์ TCI และการนำ AI เข้ามาประยุกต์ใช้ในการศึกษา และวงการวิชาการเพื่อยกระดับงานวิจัยให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพมากขึ้น
รศ. ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) บรรยายเรื่อง “ระบบวิจัยและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับฐานข้อมูลงานวิจัยของประเทศ” กล่าวถึง แผนยุทธศาสตร์ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) และระบบฐานข้อมูล เช่น ระบบข้อมูล NRIIS เพื่อยกระดับประเทศต่อไป
ศ. ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) บรรยายเรื่อง “การนำเทคโนโลยีมาช่วยพัฒนายกระดับคุณภาพผลงานวิจัยทางวิชาการของไทย” กล่าวถึง ในอดีตหากต้องการหาความรู้ หรืออ่านวารสารวิชาการจะต้องไปยังห้องสมุด แต่ในปัจจุบันเป็นยุคดิจิทัลที่สามารถค้นหาข้อมูลออนไลน์จากฐานข้อมูลต่าง ๆ ได้ และมีหลายวารสารที่เป็น Open Access (OA) ซึ่งเผยแพร่บทความผ่านเว็บไซต์ สามารถดาวน์โหลดบทความได้ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย และสำหรับประเทศไทยมีระบบ Thai Journal Online (ThaiJO) ที่เป็นแหล่งรวบรวมวารสารวิชาการไทยและเป็นระบบสำหรับจัดการวารสารเพื่อใช้ในการตีพิมพ์ และเผยแพร่บทความออนไลน์
Ms. Tracy Chen, Senior Product Manager, Content and Policy, Elsevier, Netherlands บรรยายเรื่อง “Scopus as the Trusted, High-Quality Research Data Source for Journal Editors” กล่าวถึง ฐานข้อมูล Scopus ว่ามีความน่าเชื่อถือและมีการเติบโตอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ครอบคลุมเอกสารหลายประเภทจากทั่วโลก ตลอดจนเกณฑ์ในการพิจารณาวารสารเข้าสู่ฐานข้อมูล Scopus ที่ชัดเจนและโปร่งใส นอกจากนี้ วิทยากรยังได้นำเสนอวิธีการที่ Scopus จัดการกับวารสารที่ไม่ได้มาตรฐาน (Predatory) และรายละเอียดว่า Scopus ช่วยยกระดับ international impact ของวารสารประเทศต่างๆ ได้อย่างไร โดยยกตัวอย่าง CiteScore, International Subject Experts และ Topic of Prominence
Prof. Julie Li, City University of Hong Kong, Hong Kong SAR ; CSAB Chair-Business, Management & Accounting; Economics, Econometrics & Finance บรรยายเรื่อง “An Interdisciplinary Approach to Research and Journal Development” กล่าวถึง ความหมายของสหสาขาวิชา (multidisciplinary) ในการทำวิจัยสำหรับวารสาร คือ บทความที่ผู้วิจัยมาจากลายหลากสาขาวิชา หลากหลายศาสตร์ ทำวิจัยร่วมกัน และตีพิมพ์ผลงานวิจัยในวารสารประเภท Multidisciplinary นี้
ศ. ดร.ณรงค์ฤทธิ์ สมบัติสมภพ หัวหน้าศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย บรรยายเรื่อง “กระบวนการ ผลลัพธ์ และบทเรียนจากโครงการพัฒนาคุณภาพวารสารไทยสู่ฐานข้อมูล Scopus” ได้กล่าวถึง 1. โครงการ “การพัฒนาศักยภาพและเพิ่มผลผลิต/การอ้างอิงของผลงานวิจัยในมหาวิทยาลัยไทยสู่ฐานข้อมูลสากล” (2560-2563) 2. โครงการ “การพัฒนาระบบและปรับปรุงคุณภาพวารสารไทยในฐานข้อมูล Scopus” (2563-2565) ที่ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว และประเทศได้รับผลกระทบไปในทิศทางที่ดีขึ้น เช่น มีการจัดตั้ง University Consortium เพื่อการเจรจาต่อรองการบอกรับฐานข้อมูล Scopus เพื่อพัฒนาศักยภาพการวิจัยของมหาวิทยาลัยไทย, วารสารวิชาการไทยมีคุณภาพและประสิทธิภาพในระดับสากลที่ได้รับการบรรจุเข้าฐานข้อมูล Scopus, ผลงานตีพิมพ์ของนักวิจัยไทยในฐานข้อมูล Scopus มีจำนวนบทความเพิ่มขึ้น เป็นต้น จาก 2 โครงการฯ ข้างต้น ศูนย์ TCI จึงได้ดำเนินโครงการต่อ คือ โครงการ “การพัฒนาระบบและปรับปรุงคุณภาพวารสารไทยในฐานข้อมูล Scopus ระยะที่ 2” (2566-2568) และ โครงการ “การพัฒนาคุณภาพวารสารไทยเพื่อบรรจุในฐานข้อมูล Scopus ปี ค.ศ. 2023-2025” (2566-2568) เพื่อพัฒนาและยกระดับคุณภาพวาสารวิชาการไทยต่อไป
ดร.กริช นาสิงห์ขันธุ์ นักวิจัย ฝ่ายสนับสนุนบริการทางวิศวกรรมและเทคโนโลยี เนคเทค และ ศ. ดร.ณรงค์ฤทธิ์ สมบัติสมภพ หัวหน้าศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย บรรยายเรื่อง “ระบบวิเคราะห์ข้อมูลผลงานวิจัยของประเทศไทย Thailand Research Analysis and Performance (ThaiRAP)” โดย ดร.กริช นาสิงห์ขันธุ์ ได้เปิดตัวระบบ Thailand Research Analysis and Performance (ThaiRAP) ซึ่งเป็นระบบวิเคราะห์ผลงานวิจัยของประเทศไทย ที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อแสดงให้เห็นว่า ข้อมูลที่จัดเก็บโดย TCI สามารถตอบคำถามประเทศอะไรได้บ้าง และสามารถวิเคราะห์ เปรียบเทียบข้อมูลใดได้บ้าง เช่น ประเทศไทยมีความเชี่ยวชาญในเรื่องใด มีคนเก่งในแต่ละเรื่องอยู่ที่ไหน หรือ บุคลากรวิจัยในประเทศเป็นอย่างไร ทิศทางงานวิจัยของประเทศไทยเป็นอย่างไร และ มีข้อมูลสนับสนุนการวางนโยบายวิจัยได้อย่างไร เป็นต้น
จากนั้น ศ. ดร.ณรงค์ฤทธิ์ สมบัติสมภพ ได้เปรียบเทียบข้อมูลระหว่างระบบ SciVal และ ThaiRAP เพื่อแสดงให้เห็นว่าประเทศไทย หรือหน่วยงานใดมีผลงานตีพิมพ์ในระดับนานาชาติหรือในระดับชาติและมีแนวโน้มไปในทิศทางใด ในการนี้ ระบบจะเปิดทดสอบสำหรับ 30 หน่วยงาน ในเดือนเมษายน 2566 โดย TCI จะเป็นผู้คัดเลือกหน่วยงานทดสอบ และจะเปิดระบบจริงสำหรับใช้งานโดยทั่วไป ในเดินธันวาคม 2566
ดร.กริช นาสิงห์ขันธุ์ นักวิจัย ฝ่ายสนับสนุนบริการทางวิศวกรรมและเทคโนโลยี เนคเทค และ คุณสุตพิชญ์ชา ธงดาชัย นักสารสนเทศ ศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย บรรยายเรื่อง “การบริหารจัดการวารสารไทยในระบบ Thailand Editorial System (ThaiES)” โดยคุณสุตพิชญ์ชา ธงดาชัย กล่าวถึง ระบบ Thailand Editorial System (ThaiES) ที่พัฒนามาจากระบบ “Thai Journals Online (ThaiJO)” และระบบ ThaiES มีโปรแกรมเสริมที่แตกต่างจากระบบ ThaiJO เช่น Theme ที่มีความทันสมัย, ระบบ Reviewer Finder เพื่อใช้ในการค้นหาข้อมูลของ Reviewer และ Report เป็นต้น จากนั้น ดร.กริช นาสิงห์ขันธุ์ ได้แจ้งว่า ระบบ ThaiES อยู่ระหว่างการพัฒนา จึงได้คัดเลือกวารสาร 3 กลุ่มเพื่อใช้ระบบ ThaiES ได้แก่ วารสารในโครงการ “การพัฒนาระบบและปรับปรุงคุณภาพวารสารไทยในฐานข้อมูล Scopus ระยะที่ 2” (2566-2568), วารสารในโครงการ “การพัฒนาคุณภาพวารสารไทยเพื่อบรรจุในฐานข้อมูล Scopus ปี ค.ศ. 2023-2025” (2566-2568) และวารสารกลุ่มที่ 1 ในฐานข้อมูล TCI ทั้งนี้ในอนาคตเมื่อระบบพัฒนาเสร็จสิ้นแล้วทุกวารสารที่ใช้งานระบบ ThaiJO จะได้ใช้ระบบ ThaiES ด้วยเช่นกัน
ศ. ดร.ณรงค์ฤทธิ์ สมบัติสมภพ หัวหน้าศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย บรรยายเรื่อง “แนวคิดการพัฒนาและเชิดชูผู้ทรงคุณวุฒิประเมินบทความในวารสารไทย (Reviewer Recognition)” จากจุดเริ่มต้นแนวคิดที่ว่า วารสารมีการเรียกเก็บค่า Article Processing Charges (APC) สูงเกินความเป็นจริง, กอง บ.ก. พิจารณาคุณภาพของบทความไม่เท่าเทียม, มีการบังคับใช้ Reviewer 3 ท่านจากหลากหลายสถาบัน, มีข้อร้องเรียนจากนักศึกษาที่เป็นผู้จ่ายค่า APC แต่อาจารย์เป็นผู้ได้รับค่าตอบแทนจากต้นสังกัด, TCI ต้องการพัฒนาคุณภาพของระบบ peer review ของประเทศ และ มุ่งปรับและพัฒนาคุณวารสารวิชาการไทย ให้มีมาตรฐานสากลเพิ่มมากขึ้น เป็นต้น
TCI จึงได้ทำการสำรวจข้อมูล Processing fees/Article Page Charges (APC) ในเว็บไซต์ของวารสารในฐานข้อมูล TCI จำนวน 1,020 วารสาร พบว่า วารสารกลุ่มที่ 1 (374) และกลุ่มที่ 2 (568) จำนวน 942 วารสาร ระบุว่ามี APC จำนวน 422 วารสาร คิดเป็น 45%, ระบุว่าไม่มี APC จำนวน 136 วารสาร คิดเป็น 14% และไม่ระบุข้อมูล APC บนเว็บไซต์ 384 คิดเป็น 41% ศ. ดร.ณรงค์ฤทธิ์ สมบัติสมภพ จึงให้ข้อเสนอแนะว่า ควรเรียกเก็บค่า APC อย่างเหมาะสม ไม่ควรมีการเรียกเก็บแบบ Fasttrack เนื่องจากเป็นการพิจารณาบทความที่ไม่เท่าเทียม โดยระบุไว้ที่เว็บไซต์ของวารสารอย่างชัดเจน หากไม่มีการเรียกเก็บฯควรระบุที่เว็บไซต์ของวารสารด้วย
ดังนั้น TCI จึงมีแนวคิดเกี่ยวกับ Reviewer recognitions and certificates เพื่อเป็นการตอบแทน reviewers ให้เหมาะสมกับบริบทความเป็นนักวิชาการ (นอกเหนือจากการตอบแทนด้วยเงิน) และทำให้การประเมินคุณภาพบทความในวารสารไทยมีความเป็นสากลและเป็นที่ยอมรับ ปราศจาก biasness (จากการได้รับการตอบแทนด้วยเงิน) โดย TCI อยู่ระหว่างประสานงานเพื่อสื่อสารไปยังที่ประชุมอธิการบดี (ทปอ.) อีกทั้ง Journal Reviewer Certificates และ TCI Reviewer Awards เพื่อจะมอบให้กับ Reviewer
รศ.ธีระศักดิ์ หมากผิน นักวิจัย และ คุณสันติ อิทธิฤทธิ์มีชัย นักสารสนเทศ ศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย บรรยายเรื่อง “ร่างเกณฑ์ประเมินคุณภาพวารสารในฐานข้อมูล TCI รอบที่ 5 (พ.ศ. 2568-2572)” โดย รศ.ธีระศักดิ์ หมากผิน กล่าวถึง เกณฑ์หลักที่ไม่คิดเป็นคะแนน และเกณฑ์รองที่คิดเป็นคะแนนสำหรับการประเมินรอบที่ 5 นี้ และช่วงระบบเวลาดำเนินการของการประเมินคุณภาพวารสารฯ ดังนี้
รายละเอียด ช่วงระยะเวลา ประกาศเกณฑ์ประเมินฯ รอบที่ 5 อย่างเป็นทางการ เดือน พฤษภาคม 2566 ลงทะเบียนประชุมชี้แจงเกณฑ์ในการประเมินฯ รอบที่ 5 เดือน มิถุนายน – กรกฎาคม 2566 จัดการประชุมชี้แจงเกณฑ์ในการประเมินฯ รอบที่ 5 ทั้งใน กรุงเทพฯ และภูมิภาค เดือน สิงหาคม – ตุลาคม 2566 เปิดรับข้อมูลการประเมินฯ รอบที่ 5 และวารสารใหม่ปี 2567 เดือน เมษายน – พฤษภาคม 2567 ประกาศผลการประเมินฯ รอบที่ 5 และวารสารใหม่ปี 2567 เดือน มกราคม 2568สุดท้ายนี้ ศ. ดร.ณรงค์ฤทธิ์ สมบัติสมภพ หัวหน้าศูนย์ TCI ได้ขอบคุณผู้เข้าร่วมประชุมทุกท่านและกล่าวปิดการประชุมฯ