การสร้างความร่วมมือขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น บนพื้นที่ภาคตะวันออก: ปัจจัยแห่งความสำเร็จ และสภาพปัญหาอุปสรรค

ผู้แต่ง

  • ชัชวินธ์ ตันติเวชวาณิชย์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • วสันต์ เหลืองประภัสร์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

คำสำคัญ:

ความร่วมมือ, องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, บริการสาธารณะ, ปัจจัยแห่งความสำเร็จ, ปัญหาอุปสรรค

บทคัดย่อ

          การศึกษานี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จ และสภาพปัญหาอุปสรรคที่พบในกระบวนการจัดตั้งหน่วยความร่วมมือขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อจัดบริการสาธารณะ โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพด้วยการศึกษาเอกสาร และการสัมภาษณ์เชิงลึกทั้งแบบเดี่ยวและแบบกลุ่มจากผู้ให้ข้อมูลสำคัญประกอบด้วย ผู้บริหารท้องถิ่น ข้าราชการท้องถิ่น ข้าราชการกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนภาคเอกชน และผู้แทนประชาชน รวมจำนวนทั้งสิ้น 26 คน โดยใช้กรณีศึกษาจากหน่วยความร่วมมือขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อจัดบริการสาธารณะ 3 แห่ง ในพื้นที่จังหวัดชลบุรี ฉะเชิงเทรา และจันทบุรี เป็นตัวแทนของพื้นที่ภาคตะวันออก
          ผลการศึกษาพบว่า ปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จในการสร้างความร่วมมือมากที่สุดสามลำดับแรก คือ บทบาทของหน่วยงานภายนอก ผู้นำมีวิสัยทัศน์ร่วมกัน และภาวะผู้นำท้องถิ่นแกนกลาง สำหรับสภาพปัญหาอุปสรรคระยะสร้างความร่วมมือ ได้แก่ ข้อจำกัดทางกฎหมาย การขาดความรู้และเข้าใจและไม่เห็นความสำคัญของท้องถิ่นบางแห่ง ท้องถิ่นแกนกลางขาดประสบการณ์ ข้อ
ค้นพบจากการศึกษา หนึ่ง ความร่วมมือในบริบทท้องถิ่นไทยอาจเป็นเพียงกลไกย่อยที่หน่วยงานระหว่างประเทศเข้ามาผลักดันเพื่อเคลื่อนงานระดับสากล สองความร่วมมือรูปแบบซื้อขายบริการ พบว่า ท้องถิ่นผู้ให้บริการอาจมีการกีดกันผู้รับบริการโดยใช้กลไกราคา เมื่อเห็นว่าผู้รับบริการมีมากเกินไปจนอาจสูญเสียขีดความสามารถดำเนินการในพื้นที่ตนเองลง เป็นเหตุให้ผู้รับบริการเลือกซื้อ บริการจากท้องถิ่นแห่งอื่นแทน และสาม กลุ่มการเมืองระดับจังหวัดอาจไม่มีอิทธิพลต่อเวทีนโยบายมากนัก หากมีเงื่อนไขสำคัญกว่า เช่น อุปสงค์ที่เข้มข้นตัวแสดงหลักเป็นฝ่ายข้าราชการ เป็นต้น
          ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย มิติความร่วมมือระหว่างท้องถิ่น ได้แก่ ออกกฎหมายรองรับโดยเฉพาะรูปแบบนิติบุคคล มีมาตรการกระตุ้นจูงใจและอำนวยความสะดวก สร้างกลไกความร่วมมือระหว่างท้องถิ่นระดับบน-ล่าง เพื่อบูรณาการเชิงนโยบายทุกจังหวัด และเน้นใช้มาตรการในการสร้างความร่วมมือกับพื้นที่ชนบท ส่วนพื้นที่เขตเมืองเน้นไปที่การยุบรวมท้องถิ่นด้วยกันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและเอกภาพ บางกรณีอาจมอบหมายให้ภาคส่วนอื่นทำหน้าที่แทนหากมีประสิทธิภาพมากกว่า

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2020-12-22