การจัดการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพแหล่งเรียนรู้และท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมชุมชนช่างศิลปหัตถกรรมพื้นถิ่นในเขตอำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

ผู้แต่ง

  • ศราวุธ กันทาจา คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

คำสำคัญ:

ชุมชนช่างผลิตงานศิลปหัตถกรรมพื้นถิ่น แหล่งเรียนรู้และการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม

บทคัดย่อ

          เมืองเชียงใหม่เป็นเมืองที่อุดมไปด้วยศิลปวัฒนธรรม มีชุมชนช่างผลิตงานศิลปหัตถกรรมพื้นถิ่นเป็นจำนวนมาก ปัจจุบันแหล่งผลิตงานศิลปหัตถกรรมพื้นถิ่นเหล่านั้น เป็นทั้งแหล่งเรียนรู้และท่องเที่ยวที่สำคัญและมีคุณค่ามากของเมืองเชียงใหม่ แต่การจัดการแหล่งเรียนรู้และท่องเที่ยวในแหล่งดังกล่าว ยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร การศึกษาครั้งนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและเสนอรูปแบบและวิธีการจัดการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพแหล่งเรียนรู้และท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมชุมชนช่าง ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ผลการศึกษาพบว่า มีภูมิปัญญาในการทำงานศิลปหัตถกรรมพื้นถิ่น จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ งานเครื่องเงินและงานดุนโลหะ 1 แห่ง งานทองเหลืองประเภททำฉัตร 1 แห่ง งานหล่อโลหะประเภทพระพุทธรูป 1 แห่ง งานกระดาษประเภททำโคมและตุง 1 แห่ง งานเครื่องเขิน 1 แห่ง โดยเป็นแหล่งเรียนรู้และท่องเที่ยวที่ประชาชนและผู้ประกอบการในชุมชนดำเนินการเอง ขาดการส่งเสริมประชาสัมพันธ์ ขาดสื่อการเรียนรู้และสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการท่องเที่ยว จึงเป็นไปอย่างไร้ทิศทาง การศึกษาครั้งนี้จึงเสนอให้ชุมชนช่างแต่ละแห่งรวมกลุ่มขับเคลื่อนด้วยพลังชุมชน อาทิจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้และสาธิตขึ้นในชุมชนด้วยการมีส่วนร่วมของช่าง
ศิลปหัตถกรรมพื้นถิ่นและผู้ประกอบการ สร้างสื่อการเรียนรู้พื้นฐานต่างๆ เช่น ป้ายนำชม เอกสารแผ่นพับ ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกในการท่องเที่ยวต่างๆ รวมทั้งประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ในท้องถิ่น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้เป็นแหล่งเรียนรู้และท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่ยั่งยืน

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2020-12-22