สอนให้คิด

Main Article Content

วรินทร บุญยิ่ง

Abstract

เมื่อกระแสแห่งการเปลี่ยนเปลี่ยนอย่างรอบด้านในยุคโลกาภิวัฒน์ ได้เข้ามามีอิทธิพลต่อการดำรงชีวิตของมวลมนุษยชาติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และการศึกษาก็ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรบุคคลของประเทศชาติ โดยมีครูเป็นกลไกหลักในการจัดการศึกษา แล้วเราในฐานะครูจะรับมืออย่างไร ให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และจะทำอย่างไร? ประเทศไทยจึงจะได้คนเก่ง คนดี คนที่มีจิตวิญญาณแห่งความเป็นครู  คนที่มีความรับผิดชอบ สอนให้เด็กมีการดำเนินชีวิตอย่างเท่าทันในโลกยุคศตวรรษที่ 21 ได้โดยต้องมีจิตสาธารณะใน 5 ประการ คือ (1) จิตแห่งวิทยาการมี “การเรียนรู้ตลอดชีวิต คิดเป็น ทำเป็น” (2) จิตแห่งการสังเคราะห์ คือ “การสั่งสม ต่อยอด และสร้างนวัตกรรมความรู้” (3) จิตแห่งการสร้างสรรค์ ที่เชื่อว่า “ความคิดสร้างสรรค์สร้างด้วยการหมั่นฝึกฝน” (4) จิตแห่งความเคารพ หมายถึง “การเปิดใจกว้างพร้อมรับฟังทุกความคิดเห็น” และ (5) จิตแห่งคุณธรรม คือ“มีความรู้คู่คุณธรรมนำการพัฒนา” วันนี้เราอาจเคยได้ยินจากสื่อ นักวิชาการ ผู้ปกครอง และผู้สนใจทางการศึกษาว่า “การปฏิรูปการศึกษาของเราล้มเหลว ไม่ประสบความสำเร็จ ทั้งที่รัฐบาลได้ทุ่มเทงบประมาณจำนวนมหาศาลให้กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อจัดการศึกษาให้มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนให้สูงขึ้น” และเมื่อเร็ว ๆ นี้ผลการสอบ O-NET ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และ 6 ที่มีผลคะแนนทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ต่ำกว่าเกณฑ์โดยเฉพาะวิชาภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ รวมทั้งผลการประชุม ของ World Economic Forum (WEF)-The Global Competitiveness Report 2012-2013 ซึ่งเป็นการประชุม "เวทีเศรษฐกิจโลก" ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยองค์กรอิสระที่ไม่หวังผลกำไรและได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในระดับนานาชาติ โดยผลที่ได้จากการประชุม ได้จัดอันดับคุณภาพการศึกษาของประเทศไทยในกลุ่มอาเซียน อยู่ในกลุ่มสุดท้ายอันดับที่ 8 เป็นกลุ่มที่มีคะแนนต่ำที่สุด โดยที่อันดับ 1) สิงคโปร์ 2) มาเลเซีย 3) บรูไน 4) ฟิลิปปินส์ 5) อินโดนีเซีย 6) กัมพูชา 7) เวียดนาม 8) ไทยแสดงให้เห็นว่าระบบการศึกษาของไทยยังไม่ทำให้เด็กไทย มีความรู้ตามหลักสูตร คิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาได้ ซึ่งหลายฝ่ายอาจมองว่า ต้นเหตุสำคัญของปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ คือ “การพัฒนาคุณภาพการศึกษา” โดยมีครูเป็นกลไกสำคัญที่ส่งผลให้เกิดปัญหาดังกล่าว “ครู” จึงตกเป็นจำเลยของสังคม ทั้งที่ยังมีครูส่วนใหญ่ที่มุ่งมั่น ทุ่มเท พัฒนาการเรียนการสอนอย่างจริงจัง ซึ่งหนังสือ Thinking school สอนให้คิด โดยบรรจง อมรชีวิน เป็นหนังสือที่อยากนำเสนอให้เห็นในแง่มุมของความสำคัญของการศึกษา เป็นแนวทางที่สถานศึกษาจะได้นำไปบริหารวิชาการ จัดการเรียนการสอนให้เด็ก โดยการสอนให้เด็กรู้จักคิด คิดเป็น และควรคิดได้ดีด้วย เพราะลำพังการสอนให้รู้วิชาการความรู้แต่เพียงอย่างเดียว ไม่พอเพียงกับการเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงในโลกปัจจุบันที่มีพลวัต และมีความซับซ้อนอย่างมาก ในประเทศสิงคโปร์มีการสอนทักษะการคิดอย่างจริงจัง จนมีการแข่งขันการแก้ปัญหาในอนาคตที่ทำเป็นประจำทุกปีในระดับประเทศ ซึ่งการสอนให้คิดนี้เป็นการวางรากฐานของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในประเทศที่มีค่า สามารถสร้างสรรค์ และเป็นผู้นำในภูมิภาคอาเซียน

Article Details

How to Cite
บุญยิ่ง ว. (2014). สอนให้คิด. Journal of Education and Innovation, 16(1), 180–183. Retrieved from https://so06.tci-thaijo.org/index.php/edujournal_nu/article/view/16929
Section
บทพินิจหนังสือ (Book Review)