Publication Ethics
จริยธรรมการตีพิมพ์ผลงานในวารสารวิชาการ (Publication Ethics)
วารสารวิชาการมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา จัดทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่บทความวิจัยและบทความวิชาการที่มีคุณภาพต่อสาธารณะ และสร้างองค์ความรู้ใหม่ให้กับแวดวงวิชาการ ดังนั้นเพื่อให้การเผยแพร่เป็นไปอย่างถูกต้อง มีคุณภาพ โปร่งใส และสอดคล้องกับมาตรฐานการตีพิมพ์ที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล วารสารวิชาการมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพาจึงได้กำหนดแนวทางวิธีปฏิบัติ และจริยธรรมการตีพิมพ์เผยแพร่บทความวิจัยและบทความวิชาการ โดยได้กำหนดบทบาทสำหรับผู้นิพนธ์ (authors) บรรณาธิการวารสาร (editor) และผู้ประเมินบทความ (reviewers) ไว้เพื่อให้ศึกษาและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดเพื่อประโยชน์ต่อผู้อ่านและแวดวงวิชาการต่อไป
บทบาทและหน้าที่ของผู้นิพนธ์ (Duties of Authors)
1. ผู้นิพนธ์ต้องยืนยันว่าผลงานของตนเองที่ส่งมานั้นเป็นผลงานใหม่ ไม่เคยตีพิมพ์ ที่ใดมาก่อน และไม่อยู่ในระหว่างการเสนอเพื่อพิจารณาตีพิมพ์ในวารสารอื่น
2. ผู้นิพนธ์ทุกคนที่มีชื่อปรากฏในผลงานจะต้องมีส่วนร่วมในการดำเนินการผลิตผลงานจริง
3. ผู้นิพนธ์ต้องรับรองว่าเนื้อหาในผลงานของตนเองไม่ได้คัดลอกผลงานของตนเองและผู้อื่น หรือมีการนำเนื้อหาที่ได้รับการตีพิมพ์อื่นมาใช้ซ้ำ (recycle) โดยไม่มีการอ้างอิงในรายการอ้างอิงท้ายบทความ หากพบว่ามีการละเมิดลิขสิทธิ์ (plagiarism) ถือเป็นความรับผิดชอบของผู้เขียนบทความโดยตรง
4. ผู้นิพนธ์ต้องรับรองว่าผลงานของตนเองนั้นได้มาจากข้อมูลที่ถูกต้อง ไม่บิดเบือนข้อมูล หรือให้ข้อมูลที่เป็นเท็จ
5. ผู้นิพนธ์ต้องอ้างอิงแหล่งข้อมูลทุกครั้งที่มีการนำผลงานของผู้อื่นมาใช้ในผลงาน ของตน โดยมีการจัดทำรายการอ้างอิงถูกต้องครบถ้วน และต้องมีรายการอ้างอิงท้ายบทความ
6. ผู้นิพนธ์ต้องเขียนบทความให้ถูกต้องตามรูปแบบที่วารสารกำหนดไว้ใน “คำแนะนำสำหรับผู้นิพนธ์”
7. ผู้นิพนธ์ต้องระบุแหล่งทุน (financial support) ที่ได้รับสนับสนุนในการผลิตผลงาน รวมทั้งต้องระบุผลประโยชน์ทับซ้อน (conflicts of interest) ที่อาจมี
8. ในกรณีที่ผู้นิพนธ์ทำผิดข้อตกลงหรือจริยธรรมการตีพิมพ์ผลงานในวารสารวิชาการ งานวารสารจะตัดสิทธิ์การตีพิมพ์เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 2 ปี และจะดำเนินการแจ้งหน่วยงานที่ผู้นิพนธ์สังกัด
บทบาทและหน้าที่ของบรรณาธิการวารสาร (Duties of Editor)
1. แสดงความรับผิดชอบต่อผลงานที่ตีพิมพ์ในวารสาร
บรรณาธิการจะต้องรับผิดชอบต่อทุกสิ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร ซึ่งครอบคลุมการดำเนินการดังต่อไปนี้
1.1 บรรณาธิการมีหน้าที่พัฒนาวารสารให้ได้มาตรฐานการตีพิมพ์ที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล
1.2 บรรณาธิการต้องรักษาความซื่อสัตย์สุจริตทางด้านวิชาการ
1.3 บรรณาธิการต้องรับรองคุณภาพเนื้อหาของบทความที่ได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสาร
1.4 หากตรวจสอบพบการประพฤติทุจริตมิชอบใด ๆ ภายหลังการดำเนินการตรวจสอบแล้ว บรรณาธิการต้องดำเนินการเพิกถอนบทความนั้นด้วยความโปร่งใส และสามารถพิสูจน์ได้
2. สนับสนุนความถูกต้องทางวิชาการ
2.1 บรรณาธิการต้องควบคุมคุณภาพบทความโดยให้ความเห็นชอบในการตีพิมพ์หรือปฏิเสธการตีพิมพ์ผลงานของผู้นิพนธ์บนพื้นฐานของความถูกต้องทางวิชาการ ปราศจากอคติ
2.2 บรรณาธิการต้องแจ้งรูปแบบและเกณฑ์การตีพิมพ์ของวารสารเพื่อให้การจัดทำบทความมีความถูกต้องทางวิชาการ
2.3 บรรณาธิการต้องสนับสนุนให้ผู้นิพนธ์อ้างอิงข้อมูลอย่างถูกต้องและเหมาะสม รวมทั้งแจ้งคำแนะนำที่ได้รับจากผู้ประเมินให้ผู้
นิพนธ์ได้รับทราบเพื่อนำไปใช้ในการปรับปรุงบทความ
2.4 บรรณาธิการต้องสนับสนุนให้ผู้นิพนธ์มีความรู้และปฏิบัติตามหลักจริยธรรมการตีพิมพ์ผลงานในวารสารวิชาการ
2.5 บรรณาธิการควรมีแหล่งข้อมูลเกี่ยวกับผู้ประเมินบทความที่มีความสอดคล้องกับขอบเขตเนื้อหาของวารสาร เพื่อให้ได้ผู้ประเมินที่มีความเชี่ยวชาญในศาสตร์และให้ข้อมูลหรือข้อคิดเห็นที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ
3. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
บรรณาธิการต้องไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของผู้นิพนธ์ (authors) และผู้ประเมินบทความ (reviewers) แก่บุคคลอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องในช่วงระยะเวลาของการประเมินบทความ โดยจัดให้มีกระบวนการกลั่นกรองผลงานในลักษณะ double-blind peer review
4. ควบคุมและจัดการผลประโยชน์ทับซ้อน
บรรณาธิการจะต้องไม่เป็นหนึ่งในผู้นิพนธ์ของผลงานที่ตีพิมพ์ในวารสารเพื่อเป็นการควบคุมและจัดการผลประโยชน์ทับซ้อนอันอาจเกิดขึ้น
บทบาทและหน้าที่ของผู้ประเมินบทความ (Duties of Reviewers)
1. ผู้ประเมินบทความต้องประเมินความเชี่ยวชาญและความรอบรู้ของตนเองว่าตรงกับศาสตร์ในบทความของผู้นิพนธ์อย่างแท้จริงเมื่อรับเป็นผู้ประเมิน
2. ผู้ประเมินบทความต้องประเมินบทความด้วยความยุติธรรม (fair) ปราศจากอคติ (unbiased) เป็นประโยชน์กับผู้นิพนธ์ และส่งมอบผลการประเมินตรงเวลา (timely)
3. ผู้ประเมินบทความต้องแจ้งให้บรรณาธิการทราบทันที หากพบว่ามีส่วนใดส่วนหนึ่งของบทความมีความเหมือนหรือซ้ำซ้อนกับบทความชิ้นอื่น หรือการกระทำใด ๆ อันเป็นการฝ่าฝืนจริยธรรมของการวิจัยหรือการพิมพ์เผยแพร่
4. ผู้ประเมินบทความต้องรักษาความลับและไม่เปิดเผยข้อมูลใด ๆ ของบทความที่ส่งมาเพื่อรับการประเมินแก่บุคคลอื่น ๆ