พัฒนาการการละเล่นสวดคฤหัสถ์ คณะมหาเทพบันเทิงศิลป์

Main Article Content

ไอยเรศ งามแฉล้ม

บทคัดย่อ

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพัฒนาการ การผลิตซ้ำ และการปรับตัวทางวัฒนธรรมของการละเล่นสวดคฤหัสถ์ คณะมหาเทพบันเทิงศิลป์ มีวิธีการดำเนินการวิจัยตามกระบวนการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยศึกษาเอกสารตำรา งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง การสัมภาษณ์ผู้ทรงคุณวุฒิและการสังเกต 


           ผลการวิจัยพบว่าการละเล่นสวดคฤหัสถ์ เป็นการละเล่นอย่างหนึ่งที่เป็นมหรสพโบราณ มีพัฒนาการมาจากการสวดพระอภิธรรมของพระสงฆ์ในอดีต เล่นเฉพาะในงานอวมงคล มีวัตถุประสงค์เพื่ออยู่เป็นเพื่อนและสร้างความสนุกสนานให้แก่ผู้ร่วมงานและเจ้าภาพ ให้คลายจากความโศกเศร้าด้วยการสอดแทรกการแสดงและมุกตลกขบขันประกอบกับการสวด ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะในการแสดง ที่กำลังสูญหายไปตามกาลเวลา จึงทำให้นักสวดคฤหัสถ์คณะมหาเทพบันเทิงศิลป์ ร่วมกันสืบค้นกระบวนการ และวิธีการเล่นสวดคฤหัสถ์โบราณให้กลับขึ้นมาใหม่ โดยการผลิตซ้ำและปรับวิธีการเล่นให้เหมาะสมกับองค์ประกอบ และรูปแบบของงานแสดง โดยพยายามรักษารูปแบบวิธีการละเล่นสวดคฤหัสถ์โบราณให้คงอยู่ จนเกิดรูปแบบการแสดงที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีองค์ประกอบการแสดง 7 ด้าน คือ 1.ผู้แสดง 2.บทสวด 3.วิธีการแสดง 4.ดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดง 5.การแต่งกาย 6.อุปกรณ์การแสดง 7.โอกาสและสถานที่ในการแสดง


          ลักษณะการละเล่นสวดคฤหัสถ์คณะมหาเทพบันเทิงศิลป์ เป็นการแสดงสวดคฤหัสถ์ที่ยึดแนวทางในการละเล่นสวดคฤหัสถ์โบราณโดยใช้นักสวด 4 ตำแหน่ง ประกอบด้วย ตัวตุ๊ย แม่คู่ คอสอง และตัวภาษา มีการรวบรวมบทสวด และบทร้องลำนอกทั้งของเก่าและคิดขึ้นใหม่ นำมาปรับปรุงและดัดแปลง เพื่อให้เกิดความเหมาะสมกับการแสดงความสามารถของนักสวด และจุดประสงค์ตามลักษณะของงานแสดงต่าง ๆ  จนเกิดวิธีการแสดงที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยเริ่มจากการสวดพื้นพระธรรม  ร้องลำนอก จากนั้นจึงออกชุดการแสดงเบ็ดเตล็ดต่าง ๆ 12 ภาษา  มีการปรับตัวให้สามารถแสดงได้ทั้งในงานอวมงคล การสาธิต และมีการเผยแพร่ผ่านสื่อบันเทิง และสื่อออนไลน์ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงแนวทางการปรับตัวเพื่อความอยู่รอดของสื่อการแสดงพื้นบ้านในยุคปัจจุบัน

Article Details

บท
บทความวิจัย (Research Article)

References

Montree Tramot. (1997) Kanlalen Khong Tha. Bangkok. Phrachan.

Nisa Malanont, (1998). Kanlalen Lae Kanlalen Chum-Auad Peunban Book (Entertainment and Folk Comedy Entertainment Book). Bangkok. Audience Store

Paisan Wongsiri. (1982). Suad Karuhat, Phra Nakhon Sri Ayutthaya. Cultural Center, Phra Nakorn Sri Ayutthaya.

Sathit Semanil. (1996) Wisasa. Bangkok: Ton-aor Grammy.

Udom Arunrat. (1983). Duriyang Dontri Chak Bhuthasasana. (Musical Instruments from Buddhism) . Bangkok: Faculty of Arts, Silpakorn University, Sanam Chandra Palace, Nakhon Prathom