การแนะแนวในพระพุทธศาสนา : วิเคราะห์พระสุตตันตปิฎก

Main Article Content

สมชาย ธัญธนกุล
ประจักษ์ สายแสง
พระมหาสายัณห์ เปมสีโล

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงเอกสาร มีจุดมุ่งหมายเพื่อวิเคราะห์การแนะแนวในพระพุทธศาสนาตามที่ปรากฏในพระสุตตันตปิฎก ผู้วิจัยได้ศึกษาจากพระสุตตันตปิฎก จำนวน 17 เล่ม (เล่มที่ 9-25) รวม 200 สูตร โดยรวบรวมข้อมูลในแบบบันทึกการรวบรวมข้อมูลและแบบบันทึกการวิเคราะห์ข้อมูล แล้วจึงนำมาวิเคราะห์


ผลการวิจัยพบว่า


  1. จุดมุ่งหมายการแนะแนว พบว่า มีการแก้ไขความทุกข์ เพื่อป้องกันความทุกข์ และเพื่อส่งเสริมพัฒนาบุคคลให้ไปสู่เป้าหมายสูงสุดในชีวิต คือ พระนิพพาน (ความดับกิเลส)

  2. หลักการแนะแนว พบว่า ทรงแนะแนวทุกครั้งเมื่อมีโอกาสที่เหมาะสม ทรงทราบข้อมูลพื้นฐานของบุคคล ทรงตระหนักถึงความพร้อมและความต้องการของบุคคลพร้อมทั้งความแตกต่างของบุคคล ทรงแนะแนวให้บุคคลตัดสินใจด้วยตนเองและให้ยอมรับตนเองด้วยความเป็นจริง ทรงเสด็จจาริกไปในที่ต่างๆ เพื่อแนะแนวบุคคล ทรงสอนให้บุคคลมีความเมตตากรุณา ทรงคำนึงถึงศักดิ์ศรีและคุณค่าของมนุษย์ ทรงมีการวางแผนและมีเป้าหมาย ทรงแนะแนวแก่บุคคลทุกช่วงวัย และทรงให้การแนะแนวแก่บุคคลประเภทต่างๆ มิได้แบ่งแยกชนชั้น

  3. ทฤษฎีจิตวิทยาที่เกี่ยวข้องกับการแนะแนว พบว่า บุคคลที่พระพุทธเจ้าทรงแนะแนว มีสภาพความทุกข์ (ปัญหา) แตกต่างกัน และมีสภาพความทุกข์ครบทั้ง 8 กลุ่มทฤษฎี คือ 1. ทฤษฎีการให้คำปรึกษาเชิงองค์ประกอบและคุณลักษณะ 2. ทฤษฎีการให้คำปรึกษาเชิงบำบัดด้วยเหตุผล-อารมณ์ 3. ทฤษฎีการให้คำปรึกษาเชิงศูนย์กลางที่บุคคล 4. ทฤษฎีการให้คำปรึกษาเชิงบำบัดแนวเกสตัลท์ 5. ทฤษฎีการให้คำปรึกษาเชิงอัตถิภาวนิยม 6. ทฤษฎีการให้คำปรึกษาเชิงพฤติกรรม 7. ทฤษฎีการให้คำปรึกษาแบบเผชิญความจริง และ 8. ทฤษฎีการให้คำปรึกษาเชิงวิเคราะห์สัมพันธภาพ

  4. วิธีการแนะแนว พบว่า เทคนิคหรือพุทธวิธีที่ใช้ ได้แก่ การทำนามธรรมให้เป็นรูปธรรม มี การยกอุทาหรณ์ นิทาน อดีตชาติ บุรพกรรมและเหตุการณ์ต่างๆ การเปรียบเทียบด้วยข้ออุปมา การใช้อุปกรณ์หรือสื่อการสอน นอกจากนั้นยังมี การลงโทษและการให้รางวัล การแนะแนวด้วยเหตุการณ์ปัจจุบัน การใช้ปฏิภาณไหวพริบในการโต้ตอบ ความยืดหยุ่นในการใช้วิธีการ พุทธวิธีแก้ปัญหาเฉพาะหน้า การกระตุ้นด้วยคำพูด การใช้คำในความหมายใหม่ การกระตุ้นด้วยคำถามและคำตอบ การสร้างบรรยากาศในการแนะแนว การซักถามและสนทนาโต้ตอบ การตอบปัญหา การบรรยาย และการสนทนาทักทาย พระพุทธเจ้าทรงมีขั้นตอนในการแนะแนวทั้งเป็นรายบุคคลและเป็นรายกลุ่ม และทรงมีบุคลิกภาพของความเป็นนักแนะแนว

  5. ประเภทการแนะแนว พบว่า มีการแนะแนวครบทั้ง 3 ประเภท คือ การแนะแนวด้านการศึกษา การแนะแนวด้านอาชีพ การแนะแนวด้านส่วนตัวและสังคม รวมทั้งการแนะแนวเพื่อไปสู่สุคติภูมิและเพื่อไปสู่ประโยชน์ที่เป็นสาระแท้แห่งชีวิต (พระนิพพาน)

  6. กระบวนการแนะแนว พบว่า พระพุทธเจ้าทรงเริ่มจากการเก็บรวบรวมข้อมูล การให้ข้อสนเทศ (หลักธรรม) ร่วมกับการให้คำปรึกษา จากนั้นทรงจัดวางตัวบุคคลและทรงติดตามผลหลังจากที่พระองค์ทรงแนะแนวแล้ว

Article Details

บท
บทความวิจัย