บทบาทของท้องถิ่นกับการแก้ไข ความรุนแรงทางสังคม
Main Article Content
Abstract
ความรุนแรง ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยปัจจุบัน นับว่ามีขอบข่ายเชิงปรากฏการณ์ที่แผ่กว้าง หลายเรื่องมีแนวโน้มที่รุนแรงและหลากหลายรูปแบบมากขึ้น อันจะนำมาซึ่งการดำเนินงานแก้ไขที่กว้างขวาง ต้องการหน่วยงาน สถาบัน และองค์กรเข้ามาร่วมดำเนินงานอย่างหลากหลายรูปแบบด้วยเช่นกัน โดยมีการผสานบทบาทหน้าที่กันอย่างเป็นระบบและจริงจังกล่าวคือความรุนแรงเป็นผลจากความขัดแย้ง โดยมีปัจจัยด้านทัศนคติและพฤติกรรมระดับบุคคล ภายใต้ความสัมพันธ์เชิงโครงสร้างทางสังคมและวัฒนธรรมเข้ามาเกี่ยวข้อง ความรุนแรงจึงปรากฏให้เห็นตั้งแต่ระดับตัวบุคคล เช่น การฆ่าตัวตาย ระดับระหว่างบุคคล เช่น ความรุนแรงในครอบครัวระดับระหว่างกลุ่ม เช่น การยกพวกตีกันของนักเรียนอาชีวะ และการซิ่งมอเตอร์ไซค์ของกลุ่มวัยรุ่น ระดับกลุ่มการเมือง เช่น การเก็บหัวคะแนนในช่วงเลือกตั้ง ระดับกลุ่มทางสังคม เช่น การกระทำรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ระดับกลุ่มฝูงชน เช่น ความรุนแรงจากการเดินขบวนเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ไปจนถึงระดับระหว่างประเทศกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น การปะทะกันทางทหารบริเวณชายแดนที่มีปัญหา เป็นต้น
ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ หากมองเป็นเรื่องปกติที่เป็นมามักใช้กลไกเดิมที่รับผิดชอบทำหน้าที่ดำเนินการแก้ไขไป อันได้แก่ รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ปฏิบัติอยู่แล้ว แต่หากมองเป็นเรื่องวิกฤตก็จำเป็นต้องใช้กลไกใหม่ๆ หรือใช้กลไกที่มีอยู่เดิมในลักษณะใหม่ๆ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีรองรับอยู่ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ จึงเป็นกลไกสำคัญที่ควรได้รับการเสริมสร้างบทบาท และพัฒนาขีดความสามารถทั้งโดยศักยภาพขององค์กรเอง และโดยการเชื่อมโยงกับชุมชนและประชาสังคม ทั้งนี้เพื่อช่วยเสริมแรงให้แก่ทั้งรัฐบาลและหน่วยงานภาครัฐในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ที่อยู่ห่างไกลตามไม่ทันกับขนาดและความรุนแรงของปัญหาที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องความรุนแรงทางสังคม
ในกรณีการแก้ไขเกี่ยวกับความรุนแรงนี้ อาจกล่าวได้ว่าสถาบันพระปกเกล้า ได้นำร่องด้านการสนับสนุนส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นคิดค้นหานวัตกรรมการบริหารจัดการ เพื่อลดหรือขจัดความรุนแรงอันเกิดจากความขัดแย้ง โดยการกำหนดประเภทรางวัลขึ้นใหม่อีก ๒ ประเภทคือ ๑) รางวัลด้านการเสริมสร้างสันติสุขและสมานฉันท์ และ ๒) รางวัลด้านการเสริมสร้างเครือข่ายรัฐ เอกชน และประชาสังคม ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีผลงาน ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๕๒ เป็นต้นมา
Article Details
@ 2020 King Prajadhipok's Institute The Government Complex Commemorating All Right Reserved.
References
ชื่นฤทัย กาญจนจิตรา และคณะ. 2552. สุขภาพคนไทย 2552. กรุงเทพมหานคร : บริษัท อมรินทร์พรินติ้ง แอนด์ พับ ลิชซิ่ง จำกัด (มหาชน).
พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550. ราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 14 สิงหาคม 2550.
Galtung, Johan 1995. “Violence, Peace, and Peace Research,” in Essay on Peace. Australia : Central Queensland University Press.