มองการเมืองไทยจากมุมคนเดือนตุลาฯ

Main Article Content

Kasian Tejapira

Abstract

     ผมได้เสนอมุมมองแนวโน้มอนาคตการเมืองไทยไว้ในที่ต่าง ๆ แล้ว ขออนุญาตไม่กล่าวซ้ำ2 สิ่งที่ใคร่ทำในที่นี้คืออธิบายความคิดความเข้าใจที่เป็นฐานคิดเบื้องหลังมุมมองดังกล่าวในฐานะที่เข้าใจตัวเองว่าเป็น “นักคิดรุ่นกลาง” สังกัด “คนเดือนตุลาฯ” คนหนึ่งต่างจากเมื่อ ๓๐ ปีก่อน ในปัจจุบันกล่าวได้ว่าไม่มีทรรศนะที่เห็นพ้องต้องกันเกี่ยวกับปัญหาหลักของการเมืองไทยในหมู่ “คนเดือนตุลาฯ” ผู้ผ่านประสบการณ์การลุกขึ้นสู้ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖, การฆ่าหมู่และรัฐประหาร ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙, และการต่อสู้ด้วยอาวุธที่ปฏิวัติในเขตป่าเขาร่วมกับคอมมิวนิสต์หลังจากนั้นอีกต่อไป ทรรศนะของพวกเขาที่ปรากฏต่อสาธารณะจะเน้นหนักบางด้านบางมุมของปัญหาการเมืองไทยและเปล่งแสดงพลังความสมจริงและสมรรถนะในการอธิบายและทำนายของมันตามแต่ช่วงจังหวะสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป


     อาทิเช่น จากตัวอย่างที่ยกมาข้างต้น อาจกล่าวได้ว่าทรรศนะแบบสมศักดิ์ เจียมธีรสกุลมีพลังมากหลังปรากฏการณ์ตุลาการภิวัตน์และรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙,4 ทรรศนะแบบธงชัย วินิจจะกูลมีพลังมากในช่วงกรณีขัดแย้งไทย-กัมพูชาเรื่องสถานะมรดกโลกของปราสาทเขาพระวิหารเมื่อกลางปีนี้และอธิบายบุคลิกซ้าย-ขวาสามัคคีของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย,5 และทรรศนะแบบผมอาจสอดรับกับการวิจารณ์สภาพเศรษฐกิจไทยหลังวิกฤตต้มยำกุ้งใต้กรอบกำกับนโยบายของไอเอ็มเอฟ, นโยบายเศรษฐกิจแนวเสรีนิยมใหม่ของรัฐบาลทักษิณและวิกฤตโลกของทุนนิยมอเมริกันในปัจจุบัน


     จุดเน้นที่แตกต่างไม่น่าเป็นปัญหาบกพร่องร้ายแรงในการวิเคราะห์การเมืองไทยหากไม่นำไปสู่การกีดกันปัดปฏิเสธมุมมองอื่นอย่างสิ้นเชิง ในทางกลับกันมันสะท้อนว่าประสบการณ์เดือนตุลาฯที่เป็นมรดกร่วมของสังคมการเมืองไทยมีมิติและเฉดที่หลากหลายซับซ้อนพอให้เลือกหยิบมาใช้เป็นประโยชน์ในสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงคลี่คลายไปได้ การปัดปฏิเสธลดทอนประสบการณ์ชุดนั้นให้เหลือมุมเดียวมิติเดียวต่างหากที่ทำให้มรดกเดือนตุลาฯยากจนลงและคับแคบลง

Article Details

How to Cite
tejapira, kasian . (2020). มองการเมืองไทยจากมุมคนเดือนตุลาฯ. King Prajadhipok’s Institute Journal, 6(3). Retrieved from https://so06.tci-thaijo.org/index.php/kpi_journal/article/view/244669
Section
Original Articles