โครงสร้างภาพและการเล่าเรื่อง: ศิลปะส่องสัมพันธ์ระหว่างวรรณกรรม พุทธประวัติเรื่องปฐมสมโพธิกถากับจิตรกรรมฝาผนัง วัดหงส์รัตนารามราชวรวิหาร

Main Article Content

สมบัติ สมศรีพลอย

บทคัดย่อ

บทความวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาโครงสร้างภาพและการเล่าเรื่องที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างวรรณกรรมพุทธประวัติ เรื่องปฐมสมโพธิกถากับจิตรกรรมฝาผนังวัดหงส์รัตนารามราชวรวิหาร โดยใช้แนวคิดโครงสร้างภาพและการเล่าเรื่อง วิเคราะห์ตัวบทปฐมสมโพธิกถา 2 ปริเฉท ได้แก่ คัพภานิกขมนปริวรรตและมารวิชัยปริวรรต และภาพจิตรกรรม จำนวน 2 ช่องภาพ ได้แก่ ภาพตอนประสูติและผจญมาร ผลการวิจัยพบว่า โครงสร้างภาพจิตรกรรม ตอน ประสูติ เป็นภาพที่มีหลายเหตุการณ์ แบ่งออกเป็น“ส่วนประธาน” คือ ภาพพระนางสิริมหามายาประสูติพระกุมารและพระกุมารทรงพระดำเนิน 7 ก้าวบนดอกบัว“ส่วนรอง” คือ ภาพวิมาน พระโพธิสัตว์ ภาพกระบวนเสด็จของพระนางสิริมหามายา และภาพพระพรหมและเหล่าเทวดามาสาธุการ ส่วนโครงสร้างภาพ ตอน ผจญมาร เป็นภาพเหตุการณ์เดียว“ส่วนประธาน” เป็นภาพพระโพธิสัตว์ประทับอยู่บนรัตนบัลลังก์ พระแม่ธรณีบีบมวยผม “ส่วนรอง” เป็นภาพขนาบด้านขวา พญามารยกกองทัพมาผจญพระโพธิสัตว์ ส่วนภาพขนาบด้านซ้าย สายน้ำจากผมแม่พระธรณีท่วมกองทัพมารพ่ายแพ้ไป โครงสร้างภาพกับการเล่าเรื่องมีองค์ประกอบที่สัมพันธ์กัน ดังนี้ 1) ตัวละคร ปฐมโพธิกถาจะปรากฏชื่อตัวละคร สถานที่ ไว้อย่างชัดเจน แต่ในภาพไม่สามารถระบุได้  2) โครงเรื่อง ปฐมโพธิกถาและภาพจิตรกรรมจะเชื่อมร้อยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาต่างๆ เป็นลำดับ 3) แก่นเรื่องหลักปรากฏใน ตอน ผจญมารทั้งปฐมสมโพธิกถาและภาพจิตรกรรม คือ ธรรมะชนะอธรรม 4) ช่วงเวลา/สถานที่/ฉาก ปฐมสมโพธิกถาจะระบุหรือพรรณนาไว้อย่างละเอียด แต่ภาพจิตรกรรมมีข้อจำกัดที่ไม่สามารถบอกช่วงเวลาหรือชื่อสถานที่ได้ ส่วนฉากสามารถสื่อความให้รับรู้ได้ว่าเป็นเหตุการณ์ใด 5) เครื่องแต่งกาย/พาหนะ/อาวุธ ตอนผจญมาร ปฐมสมโพธิกถาใช้ถ้อยคำพรรณนากองทัพมารไว้อย่างละเอียด ส่วนภาพจิตรกรรมเขียนให้เห็นถึงสิ่งดังกล่าวไว้พอสังเขป และ 6) ปมขัดแย้ง ทั้งปฐมสมโพธิกถาและภาพจิตรกรรมปรากฏตรงกันในตอน ผจญมาร เป็นความขัดแย้งระหว่างพระโพธิสัตว์กับพญามาร อย่างไรก็ตาม ปฐมสมโพธิกถาเป็นการเล่าเรื่องพุทธประวัติด้วยถ้อยคำที่ส่งอิทธิพลต่อการสร้างสรรค์โครงสร้างภาพและเนื้อหาในการเล่าเรื่องพุทธประวัติด้วยภาพจิตรกรรมของวัดหงส์รัตนารามราชวรวิหาร เป็นความสัมพันธ์ที่เรียกว่า“ศิลปะส่องทางแก่กัน” นับเป็นการประกอบสร้างความหมายของวรรณศิลป์ที่ส่องทางสู่ทัศนศิลป์ ทำให้เกิดบทบาทความสัมพันธ์ของศิลปะในฐานะที่เป็นการเล่าเรื่องเพื่อรับใช้ศาสนาในการเผยแผ่พุทธประวัติและยังผลไปสู่การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของวัดหงส์รัตนารามราชวรวิหารอีกทางหนึ่ง

Article Details

บท
Research Articles

References

กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม. (2551). พระอารามหลวงเล่ม 1 . กรุงเทพฯ: สหกรณ์

การเกษตรแห่งประเทศไทย.

กาญจนา แก้วเทพ. (2553). แนวพินิจใหม่ในสื่อสารศึกษา. กรุงเทพฯ: ภาพพิมพ์.

เนื้ออ่อน ขรัวทองเขียว. (2556). ความเข้าใจในจิตรกรรมไทยประเพณี. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่ง

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ปรมานุชิตชิโนรส, สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระ. (2530). ปฐมสมโพธิกถา. กรุงเทพฯ: กรม

ศิลปากร.

พวงหรีดดิจิทัล. (2563). วัดหงส์รัตนารามราชวรวิหาร. [ออนไลน์]. สืบค้น 12 เมษายน 2565, จาก https://wreathdigital.com

ศักกวีพงษ์ มหาวีโร, พระมหา. (2565). พระภิกษุวัดหงส์รัตนารามราชวรวิหาร. สัมภาษณ์ 2

มีนาคม.

สมภพ จงจิตต์โพธา. (2554). องค์ประกอบศิลป์. กรุงเทพฯ: วาดศิลป์.

สันติ เล็กสุขุม. (2545). ลีลาไทย. กรุงเทพฯ : มติชน.

สุพัฒน์ สุตธรรม, พระครู.(2565). พระภิกษุวัดหงส์รัตนารามราชวรวิหาร. สัมภาษณ์ 24 มีนาคม.