การคุ้มครองแรงงานของนักโทษจากการจ้างงาน กรณีศึกษาเปรียบเทียบกฎหมายต่างประเทศ

Main Article Content

นภัสนันท์ ไกรทิพย์บดี
กฤษฎา แสงเจริญทรัพย์

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาความหมาย ความเป็นมา แนวคิด และทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองแรงงานของนักโทษจากการจ้างงาน 2) ศึกษาวิเคราะห์มาตรการทางกฎหมายที่เกี่ยวกับการคุ้มครองแรงงานของนักโทษจากการจ้างงาน กรณีศึกษาเปรียบเทียบกฎหมายต่างประเทศ   3) ศึกษาวิเคราะห์ถึงปัญหาและอุปสรรคของการคุ้มครองแรงงานของนักโทษจากการจ้างงาน และ 4) เสนอแนะแนวทาง และมาตรการที่ความเหมาะสมในการคุ้มครองแรงงานของนักโทษจากการจ้างงาน เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยการวิจัยเอกสาร ซึ่งศึกษาแนวคิด ทฤษฎี กฎหมายต่างประเทศและกฎหมายประเทศไทยที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองแรงงานของนักโทษจากการจ้างงาน


จากผลการศึกษาพบว่า การให้นักโทษทำงานและการฝึกวิชาชีพ ส่วนใหญ่เป็นการใช้แรงงานนักโทษให้ทำงานในลักษณะงานที่ไม่เกิดความรู้และทักษะในการประกอบวิชาชีพต่อตัวผู้ต้องขังเท่าที่ควร และในการทำงานของนักโทษถูกกำหนดให้เป็นไปตามที่กำหนดในพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 มาตรา 49 ว่านักโทษนั้นต้องทำงานตามคำสั่งของเจ้าหน้าที่ โดยมิได้เกิดจากความสมัครใจเข้าร่วมทำงานของนักโทษเอง เจ้าหน้าที่อาจใช้อำนาจสั่งการได้ โดยนักโทษอาจไม่สมัครใจทำงานนั้นก็เป็นได้ ไม่มีบทบัญญัติให้สิทธิผู้ต้องขังเลือกงานที่จะทำได้ เพราะการกำหนดลักษณะงานที่ให้ผู้ต้องขังทำเป็นดุลพินิจของเจ้าพนักงานเรือนจำเท่านั้น นอกจากนี้ผู้ต้องขังไม่มีสิทธิได้ค่าจ้างจากการงานที่ได้ทำ ส่วนจะได้เงินหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับงานที่ได้ทำ ซึ่งในการคุ้มครองสิทธิผู้ต้องขังจะเห็นว่าแตกต่างกับการคุ้มครองสิทธิของถูกจ้างเป็นอย่างมาก รวมทั้งกฎหมายที่เกี่ยวกับการทำงานของผู้ต้องขังได้มีการใช้บังคับมาเป็นเวลานานโดยมิได้มีการปรับปรุงแก้ไขให้เข้ากับสังคมปัจจุบัน


ดังนั้นจึงเสนอให้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 มาตรา 49 จากที่กำหนดให้เจ้าพนักงานเรือนจำเท่านั้นเป็นผู้กำหนดลักษณะงาน เป็นให้ผู้ต้องขังมีโอกาสได้เลือกงานตามความสนใจ ตามความถนัด หรือตามความเหมาะสมกับตน ควรเพิ่มรูปแบบการทำงานภายนอกเรือนจำของนักโทษให้มีลักษณะเป็นการทำงาน หรือการจ้างงานที่ใกล้เคียงกับการจ้างงานตามกฎหมายแรงงานมากที่สุด ผู้ต้องขังควรมีสิทธิได้รับค่าจ้างจากการงานที่ได้ทำไป โดยให้ระบุอัตราการจ้างตามความเหมาะสมของงาน และควรมีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายในเรื่องการทำงานของนักโทษให้สอดคล้องกับข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำสำหรับปฏิบัติต่อนักโทษให้ทัดเทียมกับนานาอารยประเทศ เพื่อให้ผู้ต้องขังสามารถนําความรู้ที่ได้รับจากการทำงานและฝึกวิชาชีพในระหว่างถูกคุมขังไปประกอบอาชีพภายหลังพ้นโทษได้

Article Details

บท
Research Articles

References

กรมราชทัณฑ์. (2552). สารานุกรมราชทัณฑ์นานาชาติ. นนทบุรี: กรมราชทัณฑ์

กรมองค์การระหว่างประเทศ. (2551). ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน. กรุงเทพฯ: กระทรวงการต่างประเทศ.

ธานี วรภัทร์. (2554). วิกฤตราชทัณฑ์ วิกฤตกระบวนการยุติธรรมทางอาญา. กรุงเทพฯ: วิญญูชน.

พงษ์ศักดิ์ ปัตถา. (2562). การฝึกทักษะวิชาชีพและการจ้างงานผู้ต้องขัง. วิทยากรชำนาญการกลุ่มงานกฎหมาย 1 สำนักกฎหมาย. กรุงเทพฯ: สำนักงานเลขาสภาผู้แทนราษฎร.

ภริตพร จันทร์อินทร์. (2561). สิทธิในการจัดการทรัพย์สินหรือรายได้ของผู้ต้องขัง. บัณฑิตวิทยาลัย : มหาวิทยาลัยศรีปทุม.

ภัทริยา โชติภัทรสุมล. (2553). ข่าวราชทัณฑ์ 360 องศา Australia. วารสารราชทัณฑ์, 56-57(3), 17-30.