ปัญหาการกำหนดโทษของผู้ขับขี่ที่กระทำผิดซ้ำ กรณีมีสารเสพติดในร่างกายขณะขับขี่ ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522

Main Article Content

สุภาพร ละออเอี่ยม
วิชา มหาคุณ

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา 1) แนวคิด ทฤษฎี และพฤติกรรมการกระทำความผิดซ้ำที่เกี่ยวกับยาเสพติด 2) มาตรการทางกฎหมายของไทยเปรียบเทียบกับต่างประเทศ ที่เกี่ยวกับการกำหนดโทษของผู้ขับขี่ที่กระทำผิดซ้ำ กรณีมีสารเสพติดในร่างกายขณะขับขี่ 3) วิเคราะห์ปัญหาการกำหนดโทษของผู้ขับขี่ที่กระทำผิดซ้ำ กรณีมีสารเสพติดอยู่ในร่างกายขณะขับขี่ 4) แนวทางในการแก้ไขปัญหาการกำหนดโทษของผู้ขับขี่ที่กระทำผิดซ้ำ กรณีมีสารเสพติดอยู่ในร่างกายขณะขับขี่ เพื่อให้ได้มาซึ่งมาตรการทางกฎหมายที่เหมาะสม และให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยการวิจัยทางเอกสาร ซึ่งศึกษาจากแนวคิด ทฤษฎี พระราชบัญญัติ และมาตรการทางกฎหมายของไทยและต่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับปัญหาการกำหนดโทษของผู้ขับขี่ที่กระทำผิดซ้ำกรณีมีสารเสพติดในร่างกายขณะขับขี่ ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522


จากผลการศึกษาพบว่า การกำหนดโทษของผู้ขับขี่ยานพาหนะขณะมีสารเสพติดในร่างกาย ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ไม่เพียงพอที่จะทำให้การกระทำความผิดฐานขับขี่ยานพาหนะขณะมีสารเสพติดในร่างกายลดลง ประเภทของสารเสพติดในความผิดฐานเป็นผู้ขับขี่ขณะมีสารเสพติดในร่างกาย คือ แอมเฟตามีนหรือเมทแอมเฟตามีนเท่านั้น ไม่รวมถึงสารเสพติดประเภทอื่น ๆ ที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท นอกจากนี้อำนาจของเจ้าพนักงานตำรวจในการตรวจหาสารเสพติดในร่างกายของผู้ขับขี่ มีเพียงหัวหน้าเจ้าพนักงานจราจร พนักงานสอบสวน และเจ้าพนักงานจราจรเท่านั้น จึงเกิดปัญหาในการปฏิบัติหน้าที่ในการตรวจสอบ ดังนั้นจึงเสนอให้มีการเพิ่มอัตราโทษในกรณีขับขี่ยานพาหนะขณะมีสารเสพติดในร่างกาย ตลอดจนเพิ่มอัตราโทษในกรณีเสพยาแล้วมาขับเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายและเสียชีวิต รวมถึงการกระทำความผิดซ้ำซากของตัวบุคคลที่เคยกระทำความผิดมาแล้ว และในการกำหนดประเภทของสารเสพติดให้รวมถึงยาเสพติดที่มีสารเสพติดหรือวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาททุกชนิด และเห็นควรให้อำนาจตำรวจทุกสายงานในการปฏิบัติหน้าที่ตรวจสอบสารเสพติดกรณีขับขี่ยานพาหนะเสพยาเสพติด

Article Details

บท
Research Articles

References

กรมตำรวจ. (2537). ปัญหาอาชญากรรม. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ตำรวจ.

กฤษณพงศ์ พูตระกูล. (2564). การศึกษาข้อเสนอในเชิงนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุจราจรทางบก. กรุงเทพ: สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม.

ภัทรานิษฐ์ จิตสำรวย. (2559). เด็กและเยาวชนกระทำความผิดในคดียาเสพติดมากเป็นอันดับหนึ่ง. สืบค้นวันที่ 21 มีนาคม 2566, จาก http://prachatai.com/journal/2016/03/64731.

Governors Highway Safety Association. (2022). Drug Impaired Driving. Retrieved March 18, 2023, from https://www.ghsa.org/state-laws/issues/drug%20impaired%20driving.

Legal approaches to drugs and driving. (2022). overviews legal approaches to drugs and driving. Retrieved March 18, 2023, from http://www.emcdda.europa.eu/publications/topic-overviews/legal-approaches-to-drugs-and-driving/html#panel21.