การทำขวัญนาค คณะหมอขวัญสายลม ศิษย์สุรินทร์ ตำบลหนองโอ่ง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี: องค์ประกอบ ขั้นตอน สัญลักษณ์ และการสื่อความหมายในพิธีกรรม

Main Article Content

สมบัติ สมศรีพลอย

บทคัดย่อ

งานวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์องค์ประกอบ ขั้นตอน สัญลักษณ์ และการสื่อความหมายในพิธีกรรมทำขวัญนาค คณะหมอขวัญสายลม ศิษย์สุรินทร์ ตำบลหนองโอ่ง  อำเภออู่ทอง  จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยใช้แนวคิดพิธีกรรมและสัญลักษณ์กับ การสื่อความหมายวิเคราะห์กลุ่มข้อมูลตัวบทและบริบทการทำขวัญนาคและการสัมภาษณ์ แบบเจาะจง  ผลการศึกษาพบว่า คณะสายลม ศิษย์สุรินทร์ ยังคงสืบทอดองค์ประกอบการทำขวัญนาคแบบโบราณและประยุกต์สร้างสรรค์ให้เข้ากับบริบทเฉพาะถิ่น โดยมีองค์ประกอบพิธีกรรมทำขวัญนาค 6 องค์ประกอบหลัก ดังนี้ 1) วัตถุหรืออุปกรณ์ประกอบพิธีกรรม ได้แก่ โรงพิธี เครื่องอุปโลกน์, เครื่องบูชา, เครื่องใช้ในพิธี ได้แก่ บายศรี ไม้ขนาบบายศรี สายสิญจน์ ขันน้ำมนต์ ใบไม้มงคล มีดหมอ ยอดตองอ่อน ผ้าพันตอง ขันข้าวสาร แว่นเวียนเทียน เทียนขาว แป้งเจิม มะพร้าวอ่อน ไข่ยอดบายศรี และฆ้อง และ เครื่องแสดงเกียรติยศ 2) เจ้าพิธีหรือหมอขวัญ 3) กิริยาอาการบุคคลในพิธี 4) ทำนองและเนื้อร้องในพิธี  5) ระยะเวลาการประกอบพิธี  และ 6) การแสดงบทบาทสมมุติและการร่ายรำ ส่วนขั้นตอนการทำขวัญนาคมี 28 ขั้นตอน ขอกล่าวถึงเฉพาะขั้นตอนสำคัญ ดังนี้ การชุมนุมเทวดา การแหล่ขันธ์ 5 การแหล่จุติ-ปฏิสนธิ การแหล่เข้าฝัน การแหล่ทำนายฝัน การแหล่แพ้ท้อง การแหล่ลำดับเดือน หมอตำแยทำคลอด พระคุณพ่อแม่ การเรียกขวัญ การแหล่สอนนาค การเบิกบายศรีและการเวียนเทียน สัญลักษณ์ในพิธีกรรมทำขวัญนาค ประกอบด้วย 1) สัญลักษณ์บุคคล ได้แก่ เจ้านาค หมอขวัญ พ่อนาคและแม่นาค และคณะนางรำ 2) สัญลักษณ์วัตถุ ได้แก่ บายศรี ผ้าคลุมบายศรี  ไข่ยอดขวัญ ไม้ขนาบบายศรี สายสิญจน์ เครื่องอุปโลกน์ พานกำนล น้ำมนต์ ใบไม้มงคล ขันข้าวสาร ผ้าพันตอง แว่นเวียนเทียน แป้งเจิม ฆ้อง เทียนไข และมะพร้าวอ่อน 3) สัญลักษณ์พฤติกรรม ประกอบด้วย การนอบน้อมต่อพระรัตนตรัย การให้เจ้านาคหนุนตักแม่ การเวียนเทียน การเรียกขวัญ การเรียกค่ากำนล การเป่าและปัดควัน การส่งผ้าพันตอง 4) สัญลักษณ์สีขาว 5) สัญลักษณ์ตัวเลข 3  ส่วนการสื่อความหมายของสัญลักษณ์ ประกอบด้วย 1) พื้นที่สัญลักษณ์ของผู้หญิง 2) การผสมผสานสัญลักษณ์ศาสนาพุทธ พราหมณ์ ผี 3) ความกตัญญูและความสามัคคี 4) ปรัชญาทางพุทธศาสนา 5) ความเป็นสิริมงคลและความบริสุทธิ์  และ6) สัญลักษณ์แห่งภาวการณ์ไร้โครงสร้างสัญลักษณ์  พิธีกรรมการทำขวัญนาคคณะสายลม ศิษย์สุรินทร์ มีองค์ประกอบและขั้นตอนในการประกอบพิธีกรรมที่มีลักษณะเฉพาะ มีการลดทอนและสร้างสรรค์ขั้นตอนบางขั้นตอน เพื่อให้เหมาะสมกับบริบทและกาลเทศะ แต่ยังคงสัญลักษณ์แทนความหมายต่าง ๆ ในพิธีกรรมตามขนบโบราณไว้ เพื่อสื่อความหมายเชื่อมโยงให้เห็นความคิด ภูมิปัญญา โลกทัศน์ องค์ความรู้ทั้งทางโลกและทางธรรมได้เป็นอย่างดี มีบทบาทหน้าที่ทำให้พิธีกรรมดำรงอยู่ท่ามกลางกระแสวัฒนธรรมประชานิยม และมีบทบาทหน้าที่สำคัญต่อขั้นตอนชีวิตกุลบุตรพุทธศาสนิกชนในชนบทภาคกลางของไทย

Article Details

บท
Research Articles

References

กาญจนา แก้วเทพ. (2560). เครื่องมือทำงานวัฒนธรรมชุมชนและสื่อพิธีกรรมศึกษา.

พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).

คมลักษณ์ ไชยยะ. (2562). พื้นฐานแนวคิดสัญวิทยาของโรล็องด์ บาร์ตส์. วารสารวิชาการ

มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์, 7(2), 27-61.

ทิพย์สุดา นัยทรัพย์. (2542). รายงานการวิจัย การศึกษาประเพณีทำขวัญนาคจังหวัดพิษณุโลก.

พิษณุโลก: สถาบันราชภัฏพิบูลสงคราม.

ธนุยุติ แสงสว่าง. (2566). หมอขวัญ คณะหมอขวัญสายลม ศิษย์สุรินทร์. สัมภาษณ์, 20 พฤษภาคม.

บาหยัน อิ่มสำราญ. (2559). วรรณคดีพระราชพิธี. นครปฐม: คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัย

ศิลปากร.

ประจิน ฉะอ้อน. (2566). หมอขวัญหญิง คณะหมอขวัญสายลม ศิษย์สุรินทร์. สัมภาษณ์,

พฤษภาคม.

ประเสริฐ รุนรา. (2562). พระราหู การสืบทอดและการสร้างสรรค์สัญลักษณ์ความเชื่อใน

สังคมไทย. กรุงเทพฯ : สามลดา.

ภาณุพงศ์ อุดมศิลป์. (2565). พิธีกรรม “กินดอง”: การวิเคราะห์บริบทและบทบาทของพิธีกรรมที่

มีต่อชาวบ้านและชุมชนเมืองหนองบัวลำภู. กรุงเทพฯ : สันติศิริการพิมพ์.

ว. จีนประดิษฐ์.(ม.ป.ป.). พิธีการทำขวัญนาค ทำขวัญกฐิน.กรุงเทพฯ: หอสมุดกลาง 09.

ศุภชัย อิ่มทอง. (2566). หัวหน้าคณะหมอขวัญสายลม ศิษย์สุรินทร์. สัมภาษณ์, 20 พฤษภาคม.

สันติชัย แย้มใหม่. (2556). “มายาคติทางเพศสภาพผ่านสัญญะในพิธีโนราโรงครู.” วิทยานิพนธ์

ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาพัฒนามนุษย์และสังคม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์.

เสฐียรโกเศศ. (2506). ขวัญและประเพณีทำขวัญ. พระนคร: ก้าวหน้า.

อคิน รพีพัฒน์. (2551). วัฒนธรรมคือความหมาย : ทฤษฎีและวิธีการของคลิฟฟอร์ด เกียร์ซ.

กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).