ผลการจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้การคิดแบบฮิวริสติกส์ร่วมกับเทคนิคพรู้ฟแมปปิงที่มีต่อความสามารถในการให้เหตุผลทางคณิตศาสตร์และความสามารถในการสื่อสารทางคณิตศาสตร์ เรื่อง การให้เหตุผลทางเรขาคณิต ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนเทศบาล 5 เทศบาลนครสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี

Main Article Content

ณัฐชานันท์ ลิ่มนา
สุรีรัตน์ อารีรักษ์สกุล ก้องโลก
ปุริมปรัชญ์ คณิณพศุตย์

บทคัดย่อ

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความสามารถในการให้เหตุผลทางคณิตศาสตร์และความสามารถในการสื่อสารทางคณิตศาสตร์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 กลุ่มที่ได้รับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้การคิดแบบฮิวริสติกส์ร่วมกับเทคนิคพรู้ฟแมปปิง และ (2) เปรียบเทียบความสามารถในการให้เหตุผลทางคณิตศาสตร์และความสามารถในการสื่อสารทางคณิตศาสตร์ของนักเรียนกลุ่มที่ได้รับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้การคิดแบบฮิวริสติกส์ร่วมกับเทคนิคพรู้ฟแมปปิงกับนักเรียนกลุ่มที่ได้รับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบปกติ กลุ่มตัวอย่าง คือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 จำนวน 80 คน ใน 2 ห้องเรียน ๆ ละ 40 คน ได้มาโดยวิธีการสุ่มแบบกลุ่ม  เครื่องมือที่ใช้ในวิจัย  ประกอบด้วย 1) แบบวัดความสามารถในการให้เหตุผลทางคณิตศาสตร์ (2) แบบวัดความสามารถในการสื่อสารทางคณิตศาสตร์ (3) แผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้คณิตศาสตร์โดยใช้การคิดแบบฮิวริสติกส์ร่วมกับเทคนิคพรู้ฟแมปปิง และ (4) แผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้คณิตศาสตร์แบบปกติ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าเฉลี่ยเลขคณิต ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การหาค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของเพียร์สัน และการวิเคราะห์ความแปรปรวนตัวแปรพหุนาม ผลการวิจัย พบว่า (1) ความสามารถในการให้เหตุผลทางคณิตศาสตร์และความสามารถในการสื่อสารทางคณิตศาสตร์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 หลังได้รับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้คณิตศาสตร์โดยใช้การคิดแบบฮิวริสติกส์ร่วมกับเทคนิคพรู้ฟแมปปิง มีความสัมพันธ์ทางบวก มีขนาดความสัมพันธ์ระดับสูงมาก (r = 0.740, p<.05) และมีความสัมพันธ์กันจริงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 โดยมีความแปรปรวนร่วมกันร้อยละ 54.8 และ (2) นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 กลุ่มที่ได้รับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้การคิดแบบฮิวริสติกส์ร่วมกับเทคนิคพรู้ฟแมปปิงมีความสามารถในการให้เหตุผลทางคณิตศาสตร์และความสามารถในการสื่อสารทางคณิตศาสตร์สูงกว่ากลุ่มที่ได้รับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบปกติอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05

Article Details

บท
Research Articles

References

กมล นาคสุทธิ. (2559). ผลของการจัดกิจกรรมการเรียนรู้คณิตศาสตร์โดยใช้เทคนิคพรู้ฟแมปปิงในการเขียนพิสูจน์ทางเรขาคณิตที่มีต่อความสามารถในการให้เหตุผลทางเรขาคณิตของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2. วิทยานิพนธ์ปริญญาครุศาสตรมหาบัณฑิต ไม่ได้ตีพิมพ์ :. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, กรุงเทพมหานคร.

ขอบใจ สาสิทธิ์. (2545). ผลของการเรียนการสอนโดยเน้นการคิดแบบฮิวริสติกส์ที่มีต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและความสามารถในการใช้เหตุผลทางคณิตศาสตร์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2. (วิทยานิพนธ์ปริญญาครุศาสตรมหาบัณฑิต ไม่ได้ตีพิมพ์). จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, กรุงเทพมหานคร.

สาวิทตรี อุ่นทองศิริ. (2563). การศึกษาความสามารถในการพิสูจน์ทางเรขาคณิต เรื่อง การให้เหตุผลทางเรขาคณิตผ่านการจัดการเรียนรู้โดยเทคนิคผังกราฟิก ร่วมกับกระบวนการเรียนรู้แบบสืบสอบสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2. (วิทยานิพนธ์ปริญญาศึกษามหาบัณฑิต ไม่ได้ตีพิมพ์). มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, กรุงเทพมหานคร.

สุภาพร ฟองจันทร์ตา. (2553). การพัฒนาความสามารถในการให้เหตุผลทางเรขาคณิตของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โดยใช้เทคนิคการนึกภาพและใช้สี โรงเรียนแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่. (วิทยานิพนธ์ปริญญาศึกษามหาบัณฑิต ไม่ได้ตีพิมพ์). มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, เชียงใหม่.

Linares, L. (2008). The Effects of a Proof Mapping Instructional Technique on High School Geometry Students and Their Ability to Write Geometry Proofs. M.A. Thesis, University of California, Davis.

Linares, L. and Smith, P. (2009). PROOF MAPPING. Virginal: National Council of Teacher of Mathematics.