ปัจจัยที่มีผลต่อการแบ่งปันอาหารส่วนเกินในครัวเรือนมุสลิมเพื่อลดปัญหาขยะอาหาร กรณีศึกษา ชุมชนสวนหลวง 1

Main Article Content

กิตติณัฐฎา พันธ์โพธิ์
สุวัฒนา ธาดานิติ
อุ่นเรือน เล็กน้อย

บทคัดย่อ

บทความวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการแบ่งปันอาหารส่วนเกินในครัวเรือนมุสลิมเพื่อลดปัญหาขยะอาหาร กรณีศึกษา ชุมชนสวนหลวง 1 ประกอบด้วยปัจจัยด้านความรู้ ด้านทัศนคติ ด้านการปฏิบัติ ด้านความเชื่อทางศาสนา และด้านแนวทางการแบ่งปันอาหารส่วนเกินของชุมชน โดยใช้เทคนิคการวิจัยเชิงปริมาณทำการเก็บแบบสอบถามปลายปิดจากครัวเรือนมุสลิมในชุมชนสวนหลวง 1 จำนวน 92 ครัวเรือน ที่คำนวณจากโปรแกรม G*Power สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ประกอบด้วย (1) สถิติเชิงพรรณนา ได้แก่ ค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตราฐาน เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลครัวเรือนและลักษณะทางประชากรศาสตร์ (2) สถิติเชิงอนุมาณ ใช้วิธี Stepwise Simple Linear Regression เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลปัจจัยที่มีผลต่อการแบ่งปันอาหารส่วนเกินในครัวเรือนมุสลิม ชุมชนสวนหลวง 1


ผลการศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการแบ่งปันอาหารส่วนเกินในครัวเรือนมุสลิมทั้ง 5 ด้าน พบว่า ด้านความรู้เกี่ยวกับสาเหตุและแนวทางแก้ไขการเกิดอาหารส่วนเกินและขยะอาหาร กลุ่มตัวอย่างสามารถตอบถูกเกินร้อยละ 70 ในขณะที่ความหมายของอาหารส่วนเกินและผลกระทบของขยะอาหารต่อสิ่งแวดล้อมกลุ่มตัวอย่างสามารถตอบถูกได้ต่ำกว่าร้อยละ 50 ด้านทัศนคติและด้านการปฏิบัติโดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก ด้านความเชื่อทางศาสนาและด้านแนวทางการแบ่งปันอาหารส่วนเกินของชุมชนอยู่ในระดับมาที่สุด สำหรับการวิเคราะห์เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการแบ่งปันอาหารส่วนเกิน พบว่าปัจจัยที่มีอิทธิพลมากที่สุด 2 ด้าน ได้แก่ (1) การเพิ่มปัจจัยด้านแนวทางการแบ่งปันอาหารส่วนเกินของชุมชน เรื่องการจัดกิจกรรมให้ความรู้เกี่ยวกับอาหารส่วนเกินและขยะอาหาร (2) การลดปัจจัยด้านทัศนคติ เรื่องการแยกขยะอาหารก่อนทิ้งไม่ช่วยแก้ปัญหาขยะอาหาร โดยมีค่าสัมประสิทธิ์ถดถอย (β) เท่ากับ 2.125 ที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติ .01 ซึ่งสามารถพยากรณ์การแบ่งปันอาหารส่วนเกินของครัวเรือนมุสลิม ได้ร้อยละ 33 (R= .332)

Article Details

บท
Research Articles

References

กรมควบคุมมลพิษ. คู่มือการดำเนินงานลดคัดแยกขยะมูลฝอยภายในอาคารสำนักงาน. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ : กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, 2560.

ภัทรานิษฐ์ ศรีจันทราพันธุ์. แนวทางการจัดการขยะอาหารในครัวเรือน. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน), 2563.

ภัทรานิษฐ์ ศรีจัรทราพันธุ์. การลดขยะอาหารในครัวเรือนแบบครบวงจร. วารสารมหาวิทยาลัยศิลปากร. 36, 3: 19-36, 2559.

ระพีพรรณ มูหะหมัด. อิสลามกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน: กรณีศึกษาชุมชนมัสยิดกมาลุลอิสลาม คลองแสนแสบ กรุงเทพมหานคร, 2556.

วัฒนณรงค์ มากพันธ์ และคณะ ความรู้ ความเข้าใจ และพฤติกรรมการจัดการขยะของประชาชน ในเขตเทศบาลนครตรัง จังหวัดตรัง. วารสารมหาวิทยาลัยทักษิณ ปีที่ 21, ฉบับที่ 1 มกราคม - มิถุนายน 2561.

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย. รายงานฉบับสมบูรณ์ (Final report) การศึกษาแนวทางการบริการจัดการอาหารส่วนเกินเพื่อลดปัญหาขยะอาหารที่เหมาะสมกับประเทศไทย. กรุงเทพฯ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), 2562.

UNFAO. “Food Wastage Footprint: Impacts on Natural Resources.” [online]. Available:https://www.researchgate.net/publication/262611961_Food_Wastage_Footprint_Impacts_on_Natural_Resources_Summary_Report Retrieved November 9, 2022.