การนำเสนอภูมิปัญญาอาหารถิ่นใต้ ผ่านรายการโทรทัศน์ “ครัวคุณต๋อย”
คำสำคัญ:
การนำเสนอ , ภูมิปัญญาอาหารถิ่นใต้, รายการโทรทัศน์ครัวคุณต๋อยบทคัดย่อ
การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาเนื้อหารายการโทรทัศน์ที่มีความเกี่ยวข้องกับภูมิปัญญาอาหารถิ่นใต้และถูกนำเสนอผ่านรายการโทรทัศน์ครัวคุณต๋อย 2) ศึกษากระบวนการในการถ่ายทอดภูมิปัญญาอาหารถิ่นใต้ผ่านทางรายการโทรทัศน์ครัวคุณต๋อย 3) ศึกษาบทบาทของรายการโทรทัศน์ “ครัวคุณต๋อย” ในการทำหน้าที่สร้าง “ภาพแทน” ด้านภูมิปัญญาอาหารถิ่นใต้ โดยศึกษาจากการสัมภาษณ์เชิงลึกในส่วนของผู้ที่เกี่ยวข้อง และการวิเคราะห์เนื้อหารายการโทรทัศน์ครัวคุณต๋อยในส่วนที่มีความสัมพันธ์กับภูมิปัญญาอาหารถิ่นใต้ ซึ่งออกอากาศในช่วง 1 มกราคม 2563 ถึง 31 ธันวาคม 2565
ผลการวิจัยพบว่าในช่วงที่ทำการศึกษา มีเนื้อหารายการที่สัมพันธ์กับภูมิปัญญาอาหารถิ่นใต้และถูกนำเสนอออกอากาศในรายการครัวคุณต๋อยทั้งสิ้น 83 ตอน และสามารถจำแนกภูมิปัญญาอาหารถิ่นใต้ที่นำเสนอในรายการออกได้เป็น 11 ประเภทหลัก ได้แก่ ประเภทแกงเผ็ด ประเภทแกง ประเภทต้ม ประเภทผัด ประเภททอด ประเภทคั่ว ประเภทยำ ประเภทย่าง ประเภทน้ำพริก ประเภทของหวานหรือของว่าง และประเภทอื่น ๆ และเมื่อวิเคราะห์ถึงความสัมพันธ์กับมิติต่าง ๆ พบว่า ภูมิปัญญาอาหารถิ่นใต้ที่นำเสนอในรายการครัวคุณต๋อย จะสัมพันธ์กับความเป็นบริบทสังคมภาคใต้ ใน 3 องค์ประกอบหลัก คือ 1) ความสัมพันธ์กับศาสนา 2) ความสัมพันธ์กับเชื้อชาติ และ 3) ความสัมพันธ์กับสภาพภูมิศาสตร์
ด้านกระบวนการการผลิตรายการและการถ่ายทอดภูมิปัญญาอาหารถิ่นใต้ พบว่า รายการโทรทัศน์ครัวคุณต๋อยจะคัดเลือกเมนูอาหารอย่างเข้มข้นก่อนนำมาออกอากาศ และ นำภูมิปัญญาอาหารที่ปรุงสำเร็จแล้ว พร้อมผู้ประกอบเมนูนั้นมาร่วมพูดคุยในรายการ เพื่อเล่าที่มา ความน่าสนใจ เคล็ดลับในการปรุง ตลอดจนรายละเอียดปลีกย่อยอื่น ๆ โดยพิธีกรทั้งสามคนของรายการจะร่วมกันชิมอาหารพร้อมกับสื่อสารในเรื่องรสชาติ ไปยังผู้ชมด้วยคำพูดและการใช้ประสาทสัมผัส ในการรับประทานเพื่อยืนยันถึงความอร่อยของเมนูที่นำมาออกอากาศ ทั้งนี้รายการจะให้ความสำคัญกับการสื่อสารด้านภาพไปยังผู้ชม ด้วยการใช้มุมภาพ ขนาดภาพ ลักษณะภาพ และเทคนิคการลำดับภาพ ที่มีรูปแบบเฉพาะตัวของทางรายการเอง
เมื่อศึกษาถึงบทบาทของรายการโทรทัศน์ “ครัวคุณต๋อย” ในการทำหน้าที่สร้าง “ภาพแทน” ด้านภูมิปัญญาอาหารถิ่นใต้ พบว่ามีบทบาทดังนี้ 1 ) บทบาทในการถ่ายทอดความรู้ด้านอาหาร 2 ) การสืบทอดภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมอาหาร 3 ) การสอนวิธีการทำอาหาร 4 ) การสร้างประสบการณ์เรื่องรสชาติอาหาร 5 ) การสร้างและเผยแพร่ความแปลกใหม่ 6) การเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ร้านอาหาร 7 ) การส่งเสริมอาชีพซึ่งสัมพันธ์กับอาหาร 8 ) การสร้างมูลค่าเพิ่มด้านความเป็นไทยที่ทันสมัยสู่สากล 9 ) การสร้างต้นแบบเพื่อนำไปสู่การเป็น Soft Power ด้านอาหารของประทศไทย และ 10 ) บทบาทในการสร้างความบันเทิง
References
ชวน เพชรแก้ว. (2547). การยกระดับและการปรับใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นในสถานการณ์ปัจจุบัน. สารภาษาไทย. 3(3): 14-23.
ไทยพีบีเอส. (2566). Soft Power คืออะไร ? รวม “ของไทย” ปังจริงในหมู่ชาวต่างชาติ [ออนไลน์], เข้าถึงได้จาก: https://www.thaipbs.or.th/now/content/491
ธนวรรณ นาคินทร์. (2556). เมนูปักษ์ใต้ หรอยจังฮู้. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แสงแดด.
บัวชมพู ฟอร์ด. (2552). โครงการผลิตรายการอาหารไทย สำรับไทยสู่สำรับโลก. กรุงเทพฯ:วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
รักชนก สมศักดิ์. (2560). การสื่อสารอัตลักษณ์อาหารไทยผ่านรายการโทรทัศน์. วารสารศาสตร์. 10(3): 97 - 98.
สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคใต้. (2554). กรุงเทพฯ: ธนาคารไทยพาณิชย์.
เอื้องอริณ สายจันทร์. (2553). บทบาทของรายการอาหารทางโทรทัศน์ในการสืบทอดวัฒนธรรมอาหาร. กรุงเทพฯ: วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต สาขาสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
Hall, S. (Ed.). (1997). Representation: Cultural representations and signifying practices (Vol. 2). New York: Sage.
Lasswell, H. D. (1948). The structure and function of communication in society. In L. Bryson (Ed.) The communication of ideas. (pp. 32-51). New York: Harper & Brothers.
McQuail, D.(2000). McQuail's mass communication theory. (4th ed.). Thousand Oaks, CA: Sage
Downloads
เผยแพร่แล้ว
How to Cite
ฉบับ
บท
License
Copyright (c) 2024 ทีปวิท พงศ์ไพบูลย์
This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License.
ข้อความที่ปรากฏในบทความแต่ละเรื่องในวารสารวไลยอลงกรณ์ปริทัศน์ เป็นความคิดเห็นของผู้นิพนธ์แต่ละท่าน มิใช่เป็นทัศนะและมิใช่ความรับผิดชอบของกองบรรณาธิการจัดทำวารสาร และ
มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์