Journal Information
จริยธรรมในการตีพิมพ์
จริยธรรมของบรรณาธิการ
- บรรณาธิการมีหน้าที่สำคัญในการดำเนินการให้ตรงตามความประสงค์ของผู้อ่านและผู้นิพนธ์ มีหน้าที่พิจารณาคุณภาพของบทความร่วมกับกองบรรณาธิการ ผู้ทรงคุณวุฒิประจำวารสาร เพื่อตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวไลยอลงกรณ์ปริทัศน์ มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์
- บรรณาธิการทำหน้าที่คัดเลือก ตรวจสอบบทความมาตีพิมพ์หลังจากผ่านกระบวนการประเมินบทความแล้ว โดยพิจารณาจากความสำคัญ ความถูกต้องตามหลักวิชาการและระเบียบวิธีวิจัย ความน่าเชื่อถือ ความใหม่และความชัดเจนของบทความ ตลอดจนความสอดคล้องกับขอบเขตของวารสารเป็นสำคัญ
- บรรณาธิการจะต้องไม่ใช้ความสัมพันธ์ส่วนบุคคลในการยอมรับหรือปฏิเสธบทความเพื่อการตีพิมพ์ตามเกณฑ์ของวารสาร
- บรรณาธิการต้องให้เสรีภาพแก่ผู้นิพนธ์บทความในการแสดงความคิดเห็นตามหลักวิชา และคงไว้ซึ่งความถูกต้องของผลงาน
- บรรณาธิการจะต้องรักษาข้อมูลของผู้นิพนธ์ และผู้ทรงคุณวุฒิในการประเมินบทความแก่บุคคลอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องในช่วงเวลาของการประเมินบทความ
- บรรณาธิการต้องรักษาข้อมูลและความเป็นอิสระของกองบรรณาธิการ และปฏิบัติตามขั้นตอนต่าง ๆ ในการจัดทำวารสารอย่างเคร่งครัด
- บรรณาธิการต้องมีการตรวจสอบการคัดลอกผลงานผู้อื่น (Plagiarism) เพื่อให้แน่ใจว่า บทความที่ตีพิมพ์ในวารสารไม่มีการคัดลอกผลงานของผู้อื่น และหากตรวจพบการคัดลอกผลงานของผู้อื่น จะต้องหยุดกระบวนการประเมิน และติดต่อผู้นิพนธ์บทความหลักทันที เพื่อขอคำชี้แจง เพื่อประกอบการ “ตอบรับ” หรือ “ปฏิเสธ” การตีพิมพ์บทความนั้นๆ และหากบรรณาธิการตรวจพบว่า บทความมีการลอกเลียนบทความอื่นโดยมิชอบ หรือมีการปลอมแปลงข้อมูล ซึ่งสมควรถูกถอดถอน แต่ผู้เขียนปฏิเสธที่จะถอนบทความ บรรณาธิการสามารถดำเนินการถอนบทความได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้เขียน ซึ่งถือเป็นสิทธิและความรับผิดชอบต่อบทความของบรรณาธิการ
- บรรณาธิการดำรงไว้ซึ่งมาตรฐานของวารสารและปรับปรุง พัฒนาวารสารให้มีคุณภาพอยู่เสมอ
จริยธรรมของ(ผู้ทรงคุณวุฒิ)ผู้ประเมินบทความ
- ผู้ประเมินบทความต้องตรวจสอบก่อนว่าตนเองมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับบทความที่ประเมินหรือไม่ หากพบว่าตนเองอาจมีผลประโยชน์ทับซ้อนข้อมูลที่ทำให้ไม่สามารถให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะอย่างอิสระได้ ผู้ประเมินบทความควรแจ้งให้บรรณาธิการวารสารทราบและปฏิเสธการประเมินบทความนั้นๆ
- ผู้ประเมินบทความ ควรประเมินบทความในสาขาวิชาที่ตนมีความรู้ ประสบการณ์ ความชำนาญเชี่ยวชาญในศาสตร์ของตนเอง โดยพิจารณาความสำคัญของเนื้อหาในบทความ คุณภาพของการวิเคราะห์ และความเข้มข้นของผลงาน
- ผู้ประเมินบทความต้องพิจารณาบทความด้วยความเป็นธรรม ถูกต้องตามหลักวิชาในศาสตร์นั้น ๆ โดยปราศจากอคติหรือความคิดเห็นส่วนตัวและไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับผู้นิพนธ์บทความ
4. ผู้ประเมินต้องไม่นำข้อมูลบางส่วนหรือทุกส่วนของบทความไปเป็นผลงานของตนเองและหากผู้ประเมินพบว่ามีส่วนใดส่วนหนึ่งของบทความ ซ้ำซ้อนกับผลงานชิ้นอื่นๆ ผู้ประเมินบทความต้องแจ้งให้บรรณาธิการทราบ
จริยธรรมของผู้นิพนธ์บทความ
- ผู้นิพนธ์บทความจะต้องมีคุณธรรม ความซื่อสัตย์ ไม่ลอกเลียนหรือไม่นำผลงานของผู้อื่นมาเป็นของตน ควรให้เกียรติบุคคลหรือแหล่งที่มาของข้อมูลโดยทำการอ้างอิงที่นำมาใช้ในการเขียนบทความ และผู้นิพนธ์จะต้องรับรองว่าบทความไม่เคยได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่มาก่อน หรืออยู่ระหว่างการพิจารณาจากวารสารอื่น หากพบถือเป็นความรับผิดชอบของผู้นิพนธ์แต่เพียงผู้เดียว
- ผู้นิพนธ์ต้องไม่เสนอข้อมูลที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ไม่ว่าจะเป็นการปลอมแปลง สร้างข้อมูลเท็จ รวมไปถึงการตกแต่ง หรือ เลือกแสดงข้อมูลเฉพาะที่สอดคล้องกับข้อสรุป
- ผู้นิพนธ์ต้องเคารพความคิดเห็นทางวิชาการของผู้อื่น และพร้อมที่จะปรับปรุงแก้ไขบทความตามข้อเสนอแนะให้ถูกต้องตามรูปแบบของวารสาร ตามมาตรฐานทางวิชาการและตามผลประเมินจากผู้ประเมินบทความและกองบรรณาธิการแล้วเสร็จภายในเวลาที่กำหนด
- ผู้นิพนธ์บทความที่มีชื่อในบทความจะต้องเป็นผู้มีส่วนในการจัดทำบทความหรือมีส่วนในการดำเนินการวิจัย
- ผู้นิพนธ์จะต้องระบุชื่อแหล่งทุนที่ให้การสนับสนุนในการทำวิจัย (ถ้ามี) และจะต้องระบุผลประโยชน์ทับซ้อน (ถ้ามี)