การศึกษาการจัดการเรียนรู้ฐานสมรรถนะของสถานศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน

ผู้แต่ง

  • บังอร เสรีรัตน์ คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา
  • นาฎฤดี จิตรรังสรรค์ โรงเรียนสุจิปุลิ
  • สมบัติ คชสิทธิ์ คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ จังหวัดปทุมธานี
  • ประพรรธน์ พละชีวะ คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ จังหวัดปทุมธานี
  • ธัญวรัตน์ ปิ่นทอง คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ จังหวัดปทุมธานี
  • วิภาวดี แขวงเมฆ คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎวไลยอลงกรณ์ในพระบรมราชูปถัมภ์ จังหวัดปทุมธานี
  • รุ่งอรุณ วณิชธนะชากร คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ จังหวัดปทุมธานี

คำสำคัญ:

ระบบ, กลไก, การจัดการเรียนรู้ฐานสมรรถนะ, การศึกษาขั้นพื้นฐาน

บทคัดย่อ

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาแนวทางและผลของการออกแบบ และการจัด การเรียนรู้ฐานสมรรถนะเพื่อพัฒนาสมรรถนะผู้เรียนของสถานศึกษา และ 2) จัดทำข้อเสนอ เชิงนโยบายเกี่ยวกับการส่งเสริมสนับสนุนให้ครูสามารถออกแบบ และจัดการเรียนรู้ฐานสมรรถนะ เพื่อพัฒนาสมรรถนะผู้เรียน โดยมี 8 โรงเรียนระดับประถมศึกษาใน 4 พื้นที่ ได้แก่ จังหวัดปทุมธานี จังหวัดสงขลา จังหวัดสระแก้ว และกรุงเทพมหานคร เข้าร่วมวิจัยในครั้งนี้ เครื่องมือที่ใช้ ได้แก่ แบบสำรวจต้นทุนการทำงานของโรงเรียน แบบกรอกข้อมูลเรื่องการจัดการเรียนรู้ฐานสมรรถนะ แบบสอบถามและสัมภาษณ์เรื่อง การดำเนินการในการจัดการเรียนรู้ฐานสมรรถนะและผลที่เกิดขึ้น และการสนทนากลุ่มการดำเนินการวิจัยแบ่งเป็น 3 ระยะ ดังนี้ 1) ระยะการเตรียมความพร้อม 2) ระยะปฏิบัติการของสถานศึกษาโดยการสนับสนุนของนักวิจัย และ 3) ระยะการเก็บข้อมูล วิเคราะห์และ สรุปข้อมูล จัดทำรายงานการวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ สถิติบรรยาย ได้แก่ ร้อยละ ร่วมกับการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพจากการสัมภาษณ์เชิงลึกและการสนทนากลุ่ม โดยใช้การวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis)
ผลการวิจัยพบว่า
1. สถานศึกษาใช้แนวทางการจัดการเรียนรู้ฐานสมรรถนะ จำนวน 8 แนวทาง ซึ่งเป็นแนวทางเดิม 5 แนวทาง โดยแนวทางใหม่ทั้ง 3 แนวทาง ได้แก่ แนวทางการพัฒนาสมรรถนะผู้เรียนด้วยทฤษฎีพหุปัญญา แนวทางการพัฒนาสมรรถนะสำหรับผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ และแนวทางการพัฒนาสมรรถนะผู้เรียน บนความต้องการหรือความสนใจของผู้เรียน โดยพบว่า สมรรถนะหลักที่ได้รับการพัฒนามากที่สุดคือ สมรรถนะการรวมพลังทำงานเป็นทีม ผลลัพธ์มีดังนี้คือ ผู้เรียนเกิดสมรรถนะหลัก ทั้ง 6 สมรรถนะ และเกิดสมรรถนะเฉพาะในทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้
2. ข้อเสนอเชิงนโยบายที่ช่วยส่งเสริมสนับสนุนให้ครูสามารถออกแบบ และจัดการเรียนรู้ฐานสมรรถนะเพื่อพัฒนาสมรรถนะผู้เรียนมีดังนี้คือ หน่วยงานของกระทรวงศึกษาธิการควรดำเนินการดังนี้ 1) กำหนดนโยบายการจัดการศึกษาให้ชัดเจน 2) เตรียมผู้เชี่ยวชาญในการถ่ายทอดประสบการณ์ และผู้อำนวยความสะดวกเพื่อช่วยโรงเรียน และเปิดพื้นที่การเรียนรู้ จัดทำเอกสารและสื่อเผยแพร่ และจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ 3) กำหนดแนวทางในการส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ฐานสมรรถนะ 4) สนับสนุนทรัพยากรสำคัญ 5) ติดตาม ประเมินผลการทำงาน และให้การช่วยเหลือสถานศึกษาในลักษณะต่าง ๆ 6) วิจัย ศึกษาองค์ความรู้ต่าง ๆ นอกจากนี้สถาบันอุดมศึกษาที่เข้าร่วมเพื่อสนับสนุนการพัฒนาระบบกลไกควรดำเนินการดังนี้ 1) วิจัย ศึกษาองค์ความรู้ต่าง ๆ 2) พัฒนาหลักสูตรอบรมเพื่อพัฒนาบุคลากรต่าง ๆ 3) จัดเวทีถอดบทเรียนและจัดทำเอกสาร ส่วนสถานศึกษาควรดำเนินการดังนี้ 1) สร้างแรงจูงใจบุคลากรในการทำงาน 2) สำรวจต้นทุนประสบการณ์การจัด การเรียนรู้ของบุคลากร และวางแผนต่อยอดสู่การจัดการเรียนรู้ฐานสมรรถนะ 3) กำหนดเป้าหมาย ในการพัฒนาผู้เรียน 4) จัดระบบกลไกสนับสนุนการดำเนินการ 4) เปิดรับความร่วมมือ จากภาคีเครือข่าย 5) สร้างแกนนำในการทำงาน 6) จัดระบบแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และ 7) ติดตามผลอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง ผู้ทำหน้าที่หนุนเสริม พี่เลี้ยง และโค้ชควรดำเนินการดังนี้ 1) เปิดช่องทางการเรียนรู้ร่วมกันอย่างต่อเนื่อง 2) เปิดโอกาสให้ผู้สอนได้นำประสบการณ์การทำงานไปบอกเล่า เผยแพร่ ขยายผล ต่อผู้อื่น

References

ทิศนา แขมมณี, บังอร เสรีรัตน์ และเฉลิมชัย พันธ์เลิศ. (2564). แนวคิดพื้นฐานเกี่ยวกับสมรรถนะ และการศึกษาฐานสมรรถนะ. [เอกสารอัดสำเนา].

สุนันทา วรรณสินธ์ เบล และพยุงศักดิ์ แก่นจันทร์. (2563). Phenomenal Learning: นวัตกรรมการเรียนรู้แห่งอนาคตแบบฟินแลนด์. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์บุ๊คสเคป แปลจาก Lonka, K., Makkonen, J., Berg, M., Talvio, M., Maksniemi, E., Kruskopf, M., & Westling, S. K. (2018). Phenomenal learning from Finland. Edita.: Hairon, S., & Dimmock, D. (2012). Singapore schools and professional learning communities: Teacher professional development and school leadership in an Asian hierarchical system. Educational Review, 64, 405-424.

สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา. (2564). แนวทางการจัดการเรียนรู้ฐานสมรรถนะเชิงรุก: ถอดบทเรียนจากแนวคิดสู่การปฏิบัติปฏิบัติ. สมุทรปราการ: เอส.บี.เค การพิมพ์.

สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา. (2566). รายงานการวิจัยระบบกลไกหนุนเสริมการจัดการเรียนรู้ฐานสมรรถนะของสถานศึกษา. [เอกสารไม่ตีพิมพ์].

Dweck, C. S. (2008). Mindset: The New Psychology of Success. Random House Digital.

Marsh, C. J. (1992). Key concepts for understanding curriculum. London: Palmer Press. อ้างถึง Skilbeck, M. (1990). School-based curriculum development. London: Sage.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

26-12-2024