อัตลักษณ์ของชุมชนตลาดโบราณบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ

Authors

  • นิรมล ขมหวาน

Abstract

งานวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์อัตลักษณ์ของชุมชนตลาดโบราณบางพลี โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ มีวิธีการดำเนินการวิจัยคือ 1) การกำหนดประชากรกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้ให้ข้อมูลสำคัญ ได้แก่ กลุ่มผู้นำชุมชนที่เป็นทางการ กลุ่มผู้นำชุมชนที่ไม่เป็นทางการ และกลุ่มผู้ประกอบการร้านค้าและประชาชนที่อาศัยอยู่ภายในชุมชน 2) การเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยการวิจัยเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง 3) การเก็บรวบรวมข้อมูลภาคสนามด้วยเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ การสำรวจภาคสนาม การสังเกตแบบไม่มีส่วนร่วม การสังเกตแบบมีส่วนร่วม การสัมภาษณ์แบบเจาะลึก การจัดประชุมกลุ่มย่อย และการวิเคราะห์ข้อมูลและตีความแบบอุปนัยเพื่อสร้างข้อสรุปที่ได้จากผลการวิจัย 

            ผลการวิจัยพบว่า

          ชุมชนตลาดโบราณบางพลีมีอัตลักษณ์ของชุมชนที่แสดงถึงความเป็นตัวตนของชุมชน              ซึ่งถูกสร้างขึ้นบนพื้นฐานของความเหมือนกันทั้งด้านวัฒนธรรมประเพณี วิถีชีวิตความเป็นอยู่ และ  เกิดการยอมรับร่วมกันของชาวชุมชนและมีการปฏิบัติสืบต่อกันมาจนเกิดเป็นวัฒนธรรมการดำรงชีวิตที่มีลักษณะเฉพาะของชุมชน และเป็นสิ่งที่ครอบคลุมวิถีการดำเนินชีวิตของชุมชน โดยอัตลักษณ์ ของชุมชนที่พบคือ 1) มีวิถีชีวิตชุมชนแบบแม่ค้าชุมชนตลาดริมน้ำ ซึ่งเป็นวิถีชีวิตจริงที่ยังหลงเหลืออยู่ในสังคม 2) มีแบบแผนอาคารสถาปัตยกรรมแบบโบราณ 3) มีประเพณีรับบัว  ซึ่งเป็นประเพณีเก่าแก่และมีเพียงหนึ่งเดียวในประเทศไทย 4) มีหลวงพ่อโต อันเป็นที่เลื่อมใสและศรัทธาของประชาชนจากทั่วประเทศ ประดิษฐานอยู่ ณ วัดบางพลีใหญ่ใน 5) มีขนมพื้นบ้านและอาหารพื้นเมือง ได้แก่ ขนมสายบัว ขนมกะลา และปลาสลิดแดดเดียว และ 6) มีการละเล่นพื้นบ้าน ได้แก่ การเล่นกังหันเมล็ดมะม่วง การแข่งเรือมาดและการเล่นมวยทะล โดยอัตลักษณ์ที่ยังคงดำรงอยู่ในชุมชน ได้แก่ อัตลักษณ์การมีวิถีชีวิตแบบแม่ค้าชุมชนตลาดริมน้ำ การมีแบบแผนอาคารสถาปัตยกรรมแบบโบราณ การมีประเพณีรับบัว การมีหลวงพ่อโต การมีอาหารพื้นเมืองคือปลาสลิดแดดเดียว ส่วนอัตลักษณ์ที่สูญหายไปจากชุมชน ไม่มีการรื้อฟื้นกลับมา ได้แก่ อัตลักษณ์ขนมพื้นบ้านคือขนมสายบัวและขนมกะลา และอัตลักษณ์การละเล่นพื้นบ้านคือการเล่นกังหันเมล็ดมะม่วง และอัตลักษณ์ที่สูญหายไปแล้ว จากชุมชนแต่มีการรื้อฟื้นกลับมาให้คงอยู่ภายในชุมชน และมีการปรับเปลี่ยนเพื่อให้เข้ากับสภาพสังคม ที่เปลี่ยนไป โดยนำมาอยู่ในรูปแบบของการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ภายในงานประเพณีของชุมชน ได้แก่ อัตลักษณ์การละเล่นพื้นบ้านคือการแข่งเรือมาดและการเล่นมวยทะเล โดยประเพณีรับบัวถือว่าเป็นอัตลักษณ์ของชุมชนที่มีความโดดเด่นและเข้มแข็งที่สุดมีพลังศักยภาพที่แฝงอยู่ และสามารถนำมาเป็นทุนในการพัฒนาชุมชนในอนาคตได้ต่อไป

Downloads

Published

2014-12-01

How to Cite

ขมหวาน น. (2014). อัตลักษณ์ของชุมชนตลาดโบราณบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ. Valaya Alongkorn Review, 4(2), 1–13. Retrieved from https://so06.tci-thaijo.org/index.php/var/article/view/30266

Issue

Section

Academic Article