ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการปฏิบัติตามนโยบายสวัสดิการผู้สูงอายุของเทศบาลตำบลเชียงรากน้อย อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ผู้แต่ง

  • สมบูรณ์ พงษ์ผาติ
  • เกษมชาติ นเรศเสนีย์
  • ชาญชัย จิตรเหล่าอาพร

บทคัดย่อ

การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับผลการขับเคลื่อนการปฏิบัติตามนโยบายสวัสดิการผู้สูงอายุของเทศบาลตำบลเชียงรากน้อย อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 2) ศึกษาผลการปฏิบัติตามนโยบายสวัสดิการผู้สูงอายุของเทศบาลตำบลเชียงรากน้อย 3) ศึกษาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับผลการปฏิบัติตามนโยบายสวัสดิการผู้สูงอายุ ของเทศบาลตำบลเชียงรากน้อย และ 4) เสนอแนะแนวทางในการพัฒนาการปฏิบัติตามนโยบายสวัสดิการผู้สูงอายุ ของเทศบาลตำบลเชียงรากน้อย กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาได้แก่ ผู้สูงอายุ จำนวน 252 คน เลือกมาโดยการสุ่มตัวอย่างอย่างง่ายจากผู้ได้รับสวัสดิการผู้สูงอายุทั้งหมดของเทศบาลตำบลเชียงรากน้อย อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และกำหนดขนาดของกลุ่มตัวอย่างโดยใช้สูตรของ ทาโร่ ยามาเน่ เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาได้แก่ แบบสอบถาม มีค่าความเชื่อมั่น 0.96 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และค่าสัมประสิทธิความสัมพันธ์ของเพียร์สัน

            ผลการศึกษาพบว่า

            1. ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับผลการขับเคลื่อนการปฏิบัติตามนโยบายสวัสดิการผู้สูงอายุของเทศบาลตำบลเชียงรากน้อย อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พบว่า โดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า ด้านแรงจูงใจสูงที่สุด รองลงมาคือ ด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน ด้านการสนับสนุน และด้านภาวะผู้นำ

            2. การปฏิบัติตามนโยบายสวัสดิการผู้สูงอายุของเทศบาลตำบลเชียงรากน้อย อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พบว่า ผู้สูงอายุส่วนใหญ่เห็นว่ามีการปฏิบัติตามนโยบายสวัสดิการผู้สูงอายุ โดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณาเป็นรายด้านพบว่า คุณภาพชีวิตที่ดีสูงที่สุด รองลงมา คือ ความสามารถในการพึ่งตนเอง คุณภาพชีวิตที่ดี และความพึงพอใจ

            3. ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับผลการปฏิบัติตามนโยบายสวัสดิการผู้สูงอายุ ของเทศบาลตำบลเชียงรากน้อย อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พบว่า ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนการปฏิบัติมีความสัมพันธ์กันกับการปฏิบัติตามนโยบายสวัสดิการผู้สูงอายุอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 (r = 0.59)

            4. แนวทางในการพัฒนาการปฏิบัติตามนโยบายสวัสดิการผู้สูงอายุ คือ ผู้นำชุมชนหรือผู้บริหารควรต้องมีความเสียสละตั้งใจในการติดต่อประสานงาน พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ผู้สูงอายุได้รับทราบข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับนโยบายสวัสดิการผู้สูงอายุอย่างทั่วถึง นอกจากนี้ควรเปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น

Downloads

เผยแพร่แล้ว

01-12-2014

ฉบับ

บท

บทความวิชาการ