แรงจูงใจที่ส่งผลต่อความพึงพอใจในการทำงานของผู้สูงอายุในกรุงเทพมหานคร

Main Article Content

วิลาสินี ยนต์วิกัย

บทคัดย่อ

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจแรงจูงใจที่ส่งผลต่อความพึงพอใจในการทำงานของผู้สูงอายุในกรุงเทพมหานคร โดยใช้การสุ่มตัวอย่างแบบเจาะจงจากกลุ่มผู้สูงอายุชาวไทยที่ทำงานในกรุงเทพมหานครจำนวน 400 คน ซึ่งสถิติที่ใช้ คือ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และทดสอบสมมติฐานด้วยทดสอบความแตกต่างของประชากร การวิเคราะห์ความถดถอยเชิงพหุคูณ โดยผลการวิจัยพบว่าผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เป็นเพศชาย อายุระหว่าง 60-64 ปี มีสถานะสมรสและยังอยู่กับคู่สมรส และส่วนใหญ่มีการศึกษาในระดับมัธยมศึกษา มีบุตร 2 คน ส่วนใหญ่มีรายได้ 5,001 – 10,000 บาทต่อเดือน ร้อยละ 76.9 มีรายได้จากการประกอบอาชีพด้วยตนเอง อาศัยที่บ้านของตนเอง ซึ่งพักอาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร โดยไม่มีภาวะหนี้สิน และผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ไม่มีโรคประจำตัว ในกลุ่มคนที่มีโรคประจำตัวอาจมีมากกว่า 1 โรค และโรคที่มีผู้สูงอายุเป็นมากที่สุดคือโรคเกี่ยวกับกระดูกไขข้อ และเบาหวาน ร้อยละ 83.2 ได้รับการดูแลรักษาเมื่อเจ็บป่วย เพียง ร้อยละ 56.4 ได้เข้าร่วมอบรม ศึกษา เรียนรู้จากหน่วยงาน องค์กร หรือชมรมผู้สูงอายุ ได้รับสิทธิประโยชน์ของผู้สูงอายุ ร้อยละ 74 มีรายได้เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย และส่วนใหญ่มีโอกาสได้เข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง


ผู้สูงอายุที่ยังทำงานในกรุงเทพมหานคร มีแรงจูงใจและความพึงพอใจในการทำงานในระดับปานกลาง เมื่อพิจารณารายด้านแล้วพบว่า ทุกด้านมีค่าเฉลี่ยในระดับปานกลางยกเว้นแรงจูงใจด้านความรับผิดชอบมีค่าเฉลี่ยสูงสุดและอยู่ในเกณฑ์ระดับมาก และแรงจูงใจด้านความก้าวหน้าน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับด้านอื่นๆ เมื่อพิจารณารายข้อพบว่าผู้สูงอายุที่ทำงานในเขตกรุงเทพมหานครมีความกระตือรือร้นในการทำงานที่ได้รับมอบหมายมากที่สุด และมีความพึงพอใจในอัตราการเพิ่มเงินเดือนประจำปี และเงินโบนัส น้อยที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับข้ออื่น


ผลการทดสอบสมมติฐานพบว่าผู้สูงอายุที่มี เพศ อายุ สถานภาพสมรส จำนวนบุตร จำนวนสมาชิกครอบครัว ภาวะโรคประจำตัว การได้รับสิทธิประโยชน์ การเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคม ต่างกันมีแรงจูงใจและความพึงพอใจในการทำงานไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ในขณะที่ผู้สูงอายุที่ยังทำงานในกรุงเทพมหานครที่มีระดับการศึกษา ประเภทอาชีพ รายได้เฉลี่ยต่อเดือน ที่อยู่อาศัยปัจจุบัน ภาวะหนี้สิน การได้รับการดูแลรักษา การมีรายได้เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายแตกต่างกัน จะมีแรงจูงใจและความพึงพอใจในการทำงานแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05


เมื่อทดสอบสมมติฐานแรงจูงใจที่ส่งผลต่อความพึงพอใจในการทำงานของผู้สูงอายุในกรุงเทพมหานครพบว่าแรงจูงใจทุกด้านส่งผลต่อความพึงพอใจในการทำงานของผู้สูงอายุในกรุงเทพมหานครอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 โดยสมการของแรงจูงใจในการทำงานที่ส่งผลต่อความพึงพอใจในการทำงานของผู้สูงอายุในกรุงเทพมหานครได้ร้อยละ 77.1


คำสำคัญ : แรงจูงใจในการทำงาน ความพึงพอใจในการทำงาน ผู้สูงอายุ

Article Details

บท
บทความวิจัย