นโยบายการส่งเสริมอุตสาหกรรมการก่อสร้างไทยสู่การแข่งขันในระดับสากล
Main Article Content
Abstract
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาความสำคัญและสถานภาพของอุตสาหกรรม การก่อสร้างไทยใน 10 ปีที่ผ่านมา 2) ศึกษานโยบายของภาครัฐในการส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมการก่อสร้างไทย 3) ศึกษาขีดความสามารถของอุตสาหกรรมการก่อสร้างไทยในการแข่งขันระดับสากล และ 4) ศึกษาแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมการก่อสร้างไทยสู่การแข่งขันในระดับสากล ระเบียบวิธีวิจัยเป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ เก็บข้อมูล 2 วิธี คือ การสัมภาษณ์เชิงลึกและการสนทนากลุ่ม การสัมภาษณ์เชิงลึกใช้ผู้ให้ข้อมูลสำคัญที่เลือกแบบเจาะจง ประกอบด้วย ข้าราชการระดับสูงในกระทรวงอุตสาหกรรม บริษัทผู้ประกอบการด้านวัสดุก่อสร้าง บริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างที่ได้รับงานก่อสร้างในต่างประเทศ สมาคมวิชาชีพด้านงานก่อสร้าง และนักวิชาการด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ รวม 17 คน ส่วนการสนทนากลุ่มเลือกแบบเจาะจงจากผู้ประกอบการอุตสาหกรรมการก่อสร้าง องค์กรของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างขนาดใหญ่ แบ่งเป็นกลุ่มสนทนา 3 กลุ่มๆ ละ 10 คน รวม 30 คน และวิเคราะห์ข้อมูลด้วยวิธีการพรรณนา
ผลการวิจัยพบว่า
(1) ความสำคัญและสถานภาพของอุตสาหกรรมการก่อสร้างไทยใน 10 ปีที่ผ่านมา พบว่าอุตสาหกรรมการก่อสร้างไทยมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยเป็นอย่างยิ่งและสถานภาพของอุตสาหกรรมการก่อสร้างไทยใน 10 ปีที่ผ่านมา ทั้งภาครัฐและเอกชนมีการมีการก่อสร้างเพิ่มขึ้น โครงการฟื้นฟูประเทศหลังน้ำท่วมช่วยให้อุตสาหกรรมการก่อสร้างขยายตัวมากขึ้น ภาครัฐฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐาน ภาคเอกชนก่อสร้างที่อยู่อาศัย บริษัทก่อสร้างไทยได้พัฒนาตนเองทั้งด้านทรัพยากรมนุษย์ เทคโนโลยีและการบริหารให้เป็นสากลมากขึ้น
(2) นโยบายของภาครัฐในการส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมการก่อสร้างไทย พบว่า รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมการก่อสร้างมาโดยตลอด เพียงแต่ยังขาดความชัดเจน ขาดหน่วยงานกลางที่กำกับดูแลอุตสาหกรรมการก่อสร้างโดยเฉพาะ ปัจจุบันนี้รัฐบาลโดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้จัดตั้งสถาบันการก่อสร้างแห่งประเทศไทยขึ้น เพื่อให้เป็นหน่วยงานกลางช่วยเหลืออุตสาหกรรมการก่อสร้างด้านข้อมูล ข่าวสาร การวิจัยและการพัฒนา จึงเห็นว่านโยบายด้านการส่งเสริมอุตสาหกรรมการก่อสร้างของภาครัฐเพื่อการแข่งขันในระดับสากลชัดเจนขึ้น
(3) ขีดความสามารถของอุตสาหกรรมการก่อสร้างไทยในการแข่งขันระดับสากล พบว่า ขณะนี้โครงการขนาดใหญ่ในประเทศ บริษัทไทยได้เป็นผู้ดำเนินการ ส่วนบริษัทต่างประเทศลดน้อยลง คงเหลือเฉพาะบริษัทญี่ปุ่น เกาหลีและจีน ซึ่งส่วนใหญ่รับเหมาสร้างโรงงาน จึงเชื่อมั่นว่าอุตสาหกรรมการก่อสร้างไทยสามารถแข่งขันในระดับสากลโดยเฉพาะในประชาคมอาเซียนได้
(4) แนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมการก่อสร้างไทยสู่การแข่งขันในระดับสากล พบว่า รัฐต้องมีแผนแม่บทในการพัฒนาอุตสาหกรรมการก่อสร้างให้มีความโปร่งใส มีคุณธรรมในการแข่งขัน มีความร่วมมือจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย รวมทั้งจากภาคเอกชนและประชาชนทุกภาคส่วน มีการศึกษา วิจัยและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เทคโนโลยีและการบริหารจัดการอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ให้มีองค์กรกลางสำหรับขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการก่อสร้างไทยให้มีศักยภาพในการแข่งขันในระดับสากลต่อไป
Article Details
ลิขสิทธิ์บทความวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ วไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ถือเป็นกรรมสิทธิ์ของคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ห้ามนำข้อความทั้งหมดหรือบางส่วนไปพิมพ์ซ้ำ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากมหาวิทยาลัยเป็นลายลักษณ์อักษร
ความรับผิดชอบ เนื้อหาต้นฉบับที่ปรากฏในวารสารมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ วไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นความรับผิดชอบของผู้นิพนธ์บทความหรือผู้เขียนเอง ทั้งนี้ไม่รวมความผิดพลาดอันเกิดจากเทคนิคการพิมพ์