รูปแบบการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมพฤติกรรมความรับผิดชอบของเด็กปฐมวัย
Main Article Content
Abstract
การวิจัยครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อ 1) เพื่อศึกษาความคิดเห็นของผู้ปกครอง ครู ผู้บริหารสถานศึกษา และนักการศึกษาในระดับปฐมวัย ต่อการส่งเสริมพฤติกรรมจริยธรรมความรับผิดชอบของเด็กปฐมวัย และ 2) เพื่อพัฒนารูปแบบการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมพฤติกรรมจริยธรรมความรับผิดชอบของเด็กปฐมวัย การดำเนินการวิจัยแบ่งเป็น 2 ระยะ ดังนี้ระยะที่ 1 ศึกษาความคิดเห็นของครู ผู้ปกครอง ผู้บริหารระดับปฐมวัย และนักการศึกษาปฐมวัย จำนวน 30 คน ต่อการส่งเสริมพฤติกรรมจริยธรรมความรับผิดชอบของเด็กปฐมวัย เครื่องมือที่ใช้เป็นแบบสอบถามปลายเปิด ระยะที่ 2 พัฒนารูปแบบการเรียนรู้ เพื่อส่งเสริมพฤติกรรมจริยธรรมความรับผิดชอบของเด็กปฐมวัย กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ ผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 5 คน และเด็กนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 1 อายุ 4-5 ปีที่กำลังศึกษา ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2556 โรงเรียนมีนบุรี สำนักงานเขตมีนบุรี กรุงเทพมหานคร จำนวน 15 คน (นำร่องทดลองใช้รูปแบบครั้งที่ 1) และโรงเรียนวัดลานบุญุ สำนักงานเขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร จำนวน 15 คน (นำร่องทดลองใช้รูปแบบครั้งที่ 2) ใช้เวลาในการนำร่องโรงเรียนละ 4 วัน เครื่องมือที่ใช้คือ คู่มือการใช้รูปแบบการเรียนรู้ แผนการจัดประสบการณ์เรียนรู้ แบบประเมินพฤติกรรมจริยธรรมความรับผิดชอบของเด็กปฐมวัย วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติค่าเฉลี่ย และวิเคราะห์เนื้อหามูลเชิงคุณภาพ
ผลการวิจัย
ระยะที่ 1 พบว่า 1. ครู ผู้ปกครอง ผู้บริหารระดับปฐมวัย และนักการศึกษาปฐมวัย จำนวน 30 คน มีความเห็นสอดคล้องกันคือ ต้องการส่งเสริมพฤติกรรมความรับผิดชอบของเด็กปฐมวัย 2.พฤติกรรมจริยธรรมความรับผิดชอบที่ควรส่งเสริมให้กับเด็กปฐมวัยแบ่งเป็น 3 ด้านคือ 1.ความรับผิดชอบต่อตนเอง 2.ความรับผิดชอบต่อผู้อื่น 3.ความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ระยะที่ 2 ได้รูปแบบการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมพฤติกรรมจริยธรรมความรับผิดชอบของเด็กปฐมวัย มี การเรียนรู้ 3 ขั้นตอน คือ ขั้นที่ 1 จัดสิ่งแวดล้อมที่เน้นคุณค่า (Values-Base Environment) เป็นขั้นที่ครูกำหนดแหล่งเรียนรู้ที่มีคุณค่า ให้ประสบการณ์จริง และใช้คำถามกระตุ้นคิด ขั้นที่ 2 ขั้นตรวจสอบความถูกต้อง (Verification) เป็นขั้นที่เด็กสะท้อนการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนความถูกต้องร่วมกับเพื่อน ขั้นที่ 3 ขั้นสรุปคุณธรรม (Virtue Conclusion) เป็นขั้นบ่งชี้การเรียนรู้ความรับผิดชอบและสรุปสิ่งที่เรียนรู้ เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติในชีวิตประจำวัน รูปแบบการเรียนรู้ ได้ผ่านการหาคุณภาพโดยการประเมินจากผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 5 คน มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากถึงมากที่สุด มีค่าเฉลี่ยตั้งแต่ 4.40 – 4.80 โดยภาพมีคะแนนเฉลี่ยค่าความเหมาะสม เท่ากับ 4.70 และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน เท่ากับ 0.50
Article Details
ลิขสิทธิ์บทความวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ วไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ถือเป็นกรรมสิทธิ์ของคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ห้ามนำข้อความทั้งหมดหรือบางส่วนไปพิมพ์ซ้ำ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากมหาวิทยาลัยเป็นลายลักษณ์อักษร
ความรับผิดชอบ เนื้อหาต้นฉบับที่ปรากฏในวารสารมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ วไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นความรับผิดชอบของผู้นิพนธ์บทความหรือผู้เขียนเอง ทั้งนี้ไม่รวมความผิดพลาดอันเกิดจากเทคนิคการพิมพ์