การจัดการเรียนรู้แบบเด็กนักวิจัยที่มีผลต่อความสนใจในการเรียนรู้ของเด็กวัยเตาะแตะ

Main Article Content

นิรัญชา ทิพกนก

Abstract

การศึกษาวิจัยครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายสำคัญเพื่อศึกษาและเปรียบเทียบระดับความสนใจในการเรียนรู้ของเด็กวัยเตาะแตะก่อนและหลังการจัดการเรียนรู้แบบเด็กนักวิจัย กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้เป็นเด็กวัยเตาะแตะชาย – หญิง  อายุระหว่าง 2-3 ปี ที่กำลังศึกษาอยู่ ในชั้นเตรียมอนุบาล  ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา  2556 ของโรงเรียนอนุบาลอันวิดา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ได้มาโดยวิธีการสุ่มอย่างง่ายด้วยการจับฉลาก 1 ห้องเรียน จากจำนวน 3 ห้องเรียน แล้วทำการจับฉลากนักเรียนจำนวน 15 คน ระยะเวลาในการทดลอง  8  สัปดาห์ สัปดาห์ละ  5 วัน วันละ 30 นาที เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ คือแผนการจัดการเรียนรู้แบบเด็กนักวิจัยและแบบประเมินพฤติกรรมความสนใจในการเรียนรู้ของเด็กวัยเตาะแตะ สำหรับประเมินพฤติกรรมความสนใจในการเรียนรู้ของเด็กวัยเตาะแตะมีค่าดัชนีความสอดคล้องระหว่างพฤติกรรมกับจุดมุ่งหมาย (IOC) อยู่ระหว่าง 0.67 - 1.00 และมีค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ  0.79  การวิจัยครั้งนี้ใช้แบบแผนการวิจัยแบบ  One  Group  Pretest - Posttest  Design  สถิติที่ใช้วิเคราะห์ข้อมูล คือ t  –  test  แบบ Dependent Sampleและขนาดส่งผลของโคเฮน (Cohen’s d)  ผลการวิจัยพบว่า  หลังการจัดการเรียนรู้แบบเด็กนักวิจัย ความสนใจในการเรียนรู้ของเด็กวัยเตาะแตะในภาพรวมอยู่ในระดับสนใจ มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 55.20  และเมื่อพิจารณารายด้านพบว่า ความสนใจในการเรียนรู้ทุกด้าน คือ ด้านการได้ยิน  ด้านการคิด  ด้านการเคลื่อนไหวทางร่างกายและสัมผัส  ด้านการจำแนกกลิ่นและรส และด้านการใช้สายตาอยู่ในระดับสนใจ มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 11.47,11.40,11.00,10.87 และ 10.47 ตามลำดับเมื่อเปรียบเทียบระดับความสนใจในการเรียนรู้ของเด็กวัยเตาะแตะในภาพรวมและรายด้าน มีค่าสูงกว่าก่อนการจัดการเรียนรู้แบบเด็กนักวิจัยอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01

Article Details

Section
บทความวิจัย