การศึกษาประสิทธิผลของโรงเรียนประถมศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษา ขั้นพื้นฐานโดยใช้รูปแบบระดับชั้นลดหลั่นเชิงเส้น

Main Article Content

สุนีรัตน์ เอี่ยมประไพ
อรสา จรูญธรรม
บุญเรือง ศรีเหรัญ

Abstract

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาประสิทธิผลของโรงเรียนประถมศึกษา และ 2) ศึกษาปัจจัยในระดับครู และระดับโรงเรียนที่ส่งผลต่อประสิทธิผลของโรงเรียนประถมศึกษา ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน  กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ ได้แก่  ผู้บริหาร 125 คน และครู  3,750 คน กำหนดกลุ่มตัวอย่างโดยวิธีใช้สูตรของทาโรยามาเน่ (Taro Yamane)  เลือกกลุ่มตัวอย่างโดยวิธีการสุ่มแบบหลายขั้นตอน (Multi – Stage Random Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล คือ  แบบสอบถาม จำนวน 2 ชุด คือ แบบสอบถามสำหรับผู้บริหาร และครู โดยผ่านการตรวจสอบความตรงตามเนื้อหาโดยผู้เชี่ยวชาญทางด้านการศึกษา ตรวจสอบความสอดคล้องระหว่างข้อคำถามกับนิยามปฏิบัติการ ได้ค่าสัมประสิทธิ์ความเที่ยงระหว่าง 0.80 – 1.00  และหาความเชื่อมั่นของเครื่องมือโดยวิธีหาค่าสัมประสิทธิ์แอลฟ่าของครอนบาค (Cronbach’s Alpha Coefficient) ได้ค่าสัมประสิทธิ์อัลฟ่า 0.953 และ 0.981 ตามลำดับ สถิติที่ใช้ในการวิจัย คือ การวิเคราะห์รูปแบบระดับชั้นลดหลั่นเชิงเส้นด้วยโปรแกรม HLM (Hierarchical Linear Model) Version 7.01 รหัส 7.0121202.1001

ผลการวิจัย พบว่า

1. ประสิทธิผลของโรงเรียนประถมศึกษา ในภาพรวมอยู่ในระดับมาก และเมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า อยู่ในระดับมากทุกด้าน ทั้ง 4 ด้าน เรียงลำดับค่าเฉลี่ยจากมากไปหาน้อยได้ดังนี้ คือ ด้านการผลิตนักเรียนให้มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้น  ด้านการแก้ปัญหาภายในโรงเรียน  ด้านการพัฒนานักเรียนให้มีเจตคติทางบวก และด้านการปรับเปลี่ยนและพัฒนาโรงเรียน

2. ปัจจัยระดับครู และระดับโรงเรียนที่ส่งผลต่อประสิทธิผลของโรงเรียนประถมศึกษา พบว่า

2.1 ปัจจัยระดับครู ได้แก่ การสนับสนุนทางสังคมของครู ส่งผลต่อประสิทธิผลของโรงเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และแรงจูงใจในการทำงานของครู พฤติกรรมการสอนของครู และบรรยากาศการเรียนการสอน มีอิทธิพลต่อประสิทธิผลของโรงเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001  

2.2 ปัจจัยระดับโรงเรียน ได้แก่ วัฒนธรรมโรงเรียนส่งผลทางบวกต่อประสิทธิผลเฉลี่ยของโรงเรียน และวิสัยทัศน์ของผู้บริหารส่งผลต่อค่าสัมประสิทธิ์การถดถอยที่แสดงผลของตัวแปรตามบรรยากาศการเรียนการสอนต่อประสิทธิผลในโรงเรียน

Article Details

Section
บทความวิจัย