รูปแบบการพัฒนาคุณภาพงานวิจัยในชั้นเรียน
Main Article Content
Abstract
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาปัจจัยระดับผู้บริหารที่ส่งผลต่อคุณภาพงานวิจัยในชั้นเรียน 2) ศึกษาปัจจัยระดับครูที่ส่งผลต่อคุณภาพงานวิจัยในชั้นเรียน 3) ศึกษาปัจจัยระดับผู้บริหารที่มีผลต่อผลของปัจจัยระดับครูที่ส่งผลต่อคุณภาพงานวิจัยในชั้นเรียน 4) สร้างรูปแบบการพัฒนาคุณภาพงานวิจัยในชั้นเรียน และ 5) ตรวจสอบและยืนยันรูปแบบการพัฒนาคุณภาพงานวิจัยในชั้นเรียน ผู้วิจัยใช้วิธีวิจัยแบบผสานวิธี ประชากร คือ ผู้บริหารและครูในโรงเรียนประถมศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาชั้นพื้นฐาน จำนวน 15,057 แห่ง กลุ่มตัวอย่างในการวิจัย คือ ผู้บริหารและครู จำนวน 2,358 คน จำแนกเป็น ผู้บริหาร จำนวน 393 คน ครู 1,965 คน โดยการสุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน (Multistage Random Sampling) ดังนี้ 1) ใช้โรงเรียนเป็นหน่วยในการสุ่มกำหนดขนาดกลุ่มตัวอย่างโดยใช้วิธีของทาโรยามาเน่ (Taro Yamane) 2) กำหนดเขตพื้นที่การศึกษาตามจังหวัด 77 แห่ง 3) กำหนดจำนวนโรงเรียนแล้วสุ่มแบ่งชั้นภูมิตามสัดส่วนจำนวนของประชากร เพื่อให้ได้กลุ่มตัวอย่างที่มีจำนวนที่เหมาะสมที่จะครอบคลุมลักษณะของประชากรมากที่สุดเครื่องมือที่ใช้เก็บรวบรวมข้อมูล คือ แบบสอบถามและแบบทดสอบ จำนวน 3 ฉบับ ฉบับที่ 1 สำหรับผู้บริหารสอบถามปัจจัยระดับผู้บริหาร จำนวน 9 ตอน ฉบับที่ 2 สำหรับครู สอบถามปัจจัยระดับครู 4 ตอน และฉบับที่ 3 แบบทดสอบ จำนวน 35 ข้อ สำหรับผู้บริหารและครู เก็บข้อมูลด้านความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับงานวิจัยในชั้นเรียน แบบสอบถามปัจจัยระดับผู้บริหารและระดับครู มีค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับตามวิธีการของครอนบาค เท่ากับ 0.964 และ 0.872 ตามลำดับ และแบบทดสอบมีค่าความเชื่อมั่นโดยใช้สูตร KR-20 เท่ากับ 0.892 (p=0.429 – 0.558 r= 0.363 – 0.673) การวิเคราะห์ใช้การวิเคราะห์พหุระดับ (HLM) Version7.01 รหัส HP 7.0121202.1001 วิเคราะห์ปัจจัยระดับผู้บริหาร และปัจจัยระดับครูที่ส่งผลต่อคุณภาพงานวิจัยในชั้นเรียน
ผลการวิจัย พบว่า
1. ปัจจัยระดับผู้บริหาร ด้านการกำหนดนโยบาย กลยุทธ์และแผนการวิจัยในชั้นเรียนส่งผลต่อคุณภาพงานวิจัยในชั้นเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 ส่วนด้านอื่นไม่ส่งผลต่อคุณภาพงานวิจัยในชั้นเรียน
2. ปัจจัยระดับครู ด้านทักษะและด้านแรงจูงใจในการทำวิจัยในชั้นเรียนส่งผลต่อคุณภาพงานวิจัยในชั้นเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 และ .05 ตามลำดับ ส่วนด้านอื่นไม่ส่งผล
3. ปัจจัยระดับผู้บริหาร ไม่มีผลต่อปัจจัยระดับครูที่ส่งผลต่อคุณภาพงานวิจัยในชั้นเรียน
4. รูปแบบการพัฒนาคุณภาพงานวิจัยในชั้นเรียนสร้างจากผลการศึกษาปัจจัยระดับผู้บริหารด้านการกำหนดโยบาย กลยุทธ์และแผนการวิจัยในชั้นเรียน และปัจจัยระดับครูที่ด้านทักษะและแรงจูงใจในการทำวิจัยในชั้นเรียนที่ส่งผลต่อคุณภาพงานวิจัยในชั้นเรียน
5. รูปแบบการพัฒนาคุณภาพงานวิจัยในชั้นเรียนได้รับการตรวจสอบและยืนยันรูปแบบโดยผู้ทรงคุณวุฒิว่าเป็นรูปแบบที่มีความสัมพันธ์ สอดคล้อง เหมาะสม และมีความเป็นไปได้ในการนำไปใช้ตามวัตถุประสงค์ของรูปแบบในระดับมากArticle Details
ลิขสิทธิ์บทความวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ วไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ถือเป็นกรรมสิทธิ์ของคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ห้ามนำข้อความทั้งหมดหรือบางส่วนไปพิมพ์ซ้ำ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากมหาวิทยาลัยเป็นลายลักษณ์อักษร
ความรับผิดชอบ เนื้อหาต้นฉบับที่ปรากฏในวารสารมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ วไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นความรับผิดชอบของผู้นิพนธ์บทความหรือผู้เขียนเอง ทั้งนี้ไม่รวมความผิดพลาดอันเกิดจากเทคนิคการพิมพ์