การพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการสถานศึกษาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
Main Article Content
Abstract
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ คือ 1) เพื่อศึกษาสภาพปัจจุบันและปัญหาของการบริหารจัดการสถานศึกษาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน 2) เพื่อพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการสถานศึกษาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่เหมาะสม 3) เพื่อตรวจสอบความเหมาะสม และความเป็นไปได้ของรูปแบบการบริหารจัดการสถานศึกษาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กลุ่มตัวอย่างที่ใช้มี 3 กลุ่มคือ กลุ่มที่ 1 ผู้บริหารโรงเรียน จำนวน 3 คน เลือกแบบเจาะจง กลุ่มที่ 2 ผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 9 คน เลือกแบบเจาะจง ประกอบด้วย นักวิชาการ จำนวน 3 คน ผู้บริหารโรงเรียน จำนวน 3 คน และคณาจารย์ในมหาวิทยาลัย จำนวน 3 คน และกลุ่มที่ 3 ผู้บริหารโรงเรียน สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 398 คน โดยการเปิดตารางการกำหนดขนาดกลุ่มตัวอย่างของทาโร ยามาเน่ ที่ระดับความคลาดเคลื่อนที่ .05 โดยการสุ่มแบบหลายขั้นตอน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ แบบศึกษาเอกสาร มีค่าดัชนีความสอดคล้องอยู่ระหว่าง .80 – 1.00 แบบสัมภาษณ์ปลายเปิด มีค่าดัชนีความสอดคล้องอยู่ระหว่าง .80 – 1.00 แบบสนทนากลุ่มมีค่าดัชนีความสอดคล้องอยู่ระหว่าง .80 – 1.00 และแบบสอบถามมีค่าดัชนีความสอดคล้องอยู่ระหว่าง .80 – 1.00 และมีค่าความเชื่อมั่น .97 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล วิธีวิจัยเชิงคุณภาพใช้การวิเคราะห์เนื้อหา วิธีวิจัยเชิงปริมาณใช้การวิเคราะห์ด้วยสถิติเชิงบรรยาย ได้แก่ ค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการบรรยายประกอบความเรียง
ผลการวิจัยพบว่า
1. สภาพปัจจุบันและปัญหาของรูปแบบการบริหารจัดการสถานศึกษาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้แก่ 1) สภาพปัจจุบัน สถานศึกษาทุกแห่งมีความพร้อมที่น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในการจัดกระบวนการเรียนการสอน และการบริหารจัดการที่เหมาะสมกับบริบทของแต่ละสถานศึกษา 2) สภาพปัญหา สถานศึกษาขาดการกำกับ นิเทศติดตามทุกระดับ ขาดความตระหนัก ความรู้ ความร่วมมือ และการมีส่วนร่วมของบุคลากรทุกภาคส่วน
2. รูปแบบการบริหารจัดการสถานศึกษาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ประกอบด้วย 5 ส่วน คือ
ส่วนที่ 1 ส่วนนำ ประกอบด้วย 1) หลักการ ได้แก่ (1) การมีสมรรถนะของผู้บริหาร (2) การมุ่งผลสำเร็จของสถานศึกษา (3) การมีคุณธรรม และ (4) การมีส่วนร่วม 2) วัตถุประสงค์ เพื่อเป็นสถานศึกษาที่พึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน 3) บริบทหรือสภาพแวดล้อม สถานศึกษาจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการจัดกิจกรรมของเศรษฐกิจพอเพียง
ส่วนที่ 2 ระบบการบริหารแบบปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ประกอบด้วย 3 ส่วน ดังนี้ 1) วิธีการบริหาร แบบปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มี 7 ขั้นตอน ได้แก่ (1) การวิเคราะห์องค์กร (2) การวางแผน (3) การสร้างทีมงาน (4) การดำเนินงาน (5) การนิเทศ (6) การประเมินผล และ (7) การรายงานผล 2) หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ได้แก่ (1) พอประมาณ (2) มีเหตุผล (3) มีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี (4) มีความรู้ (5) มีคุณธรรม 3) อำนาจหน้าที่ แบ่งออกเป็น 4 งาน ได้แก่ (1) การบริหารวิชาการ (2) การบริหารงบประมาณ (3) การบริหารบุคคล และ (4) การบริหารทั่วไป
ส่วนที่ 3 การนำรูปแบบไปใช้ ประกอบด้วย 4 ขั้นตอนได้แก่ 1) การเตรียมการดำเนินงาน 2) การนำไปใช้ 3) การประเมินผลการดำเนินงาน และ 4) สรุปผลการดำเนินงาน
ส่วนที่ 4 การประเมินผล ประกอบด้วย 2 ส่วน ดังนี้ 1) ขั้นตอนวิธีการประเมิน มี 2 ขั้นตอน ได้แก่ (1) สถานศึกษาประเมินตนเอง (2) ประเมินโดยคณะกรรมการประเมินของหน่วยงาน 2) สิ่งที่ประเมิน ประกอบด้วย (1) การประเมินตนเอง ได้แก่การประเมินการปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่ 4 งาน และ (2) การประเมินจากหน่วยงานต้นสังกัด ได้แก่ (1) การบริหารจัดการสถานศึกษา (2) หลักสูตรและการจัดการเรียนการสอน (3) การจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน และ (4) การพัฒนาบุคลากร
ส่วนที่ 5 เงื่อนไข ประกอบด้วย 2 เงื่อนไข ได้แก่ 1) เงื่อนไขความสำเร็จ พบว่า (1) ระดับเขตพื้นที่ต้องกำหนดนโยบาย จัดหารูปแบบ จัดอบรมให้ความรู้บุคลากร แต่งตั้งคณะทำงาน และส่งเสริมทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม สนับสนุนการดำเนินงานตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (2) ระดับโรงเรียนต้องกำหนดนโยบาย พัฒนาบุคลากร และจัดระบบการนิเทศภายใน ให้สามารถจัดกระบวนการเรียนการสอน และการบริหารจัดการสถานศึกษาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (3) การมีส่วนร่วมของผู้ปกครองและชุมชน โดยร่วมคิด ร่วมทำ และร่วมติดตามประเมินผลการดำเนินงานตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง 2) เงื่อนไขข้อจำกัด พบว่า ขาดการกำกับ นิเทศติดตามทุกระดับ และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน
3. ผลการตรวจสอบความเหมาะสมและความเป็นไปได้รูปแบบมี 2 ขั้นตอน คือ 1) การตรวจสอบรูปแบบเชิงคุณภาพโดยผู้ทรงคุณวุฒิ พบว่า องค์ประกอบของรูปแบบการบริหารจัดการสถานศึกษาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ทั้ง 5 ส่วน มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด ( = 4.80, S.D. = 0.18) และมีความเป็นไปได้อยู่ในระดับมากที่สุด ( = 4.60, S.D. = 0.16) 2) การตรวจสอบรูปแบบเชิงปริมาณโดยใช้แบบสอบถาม พบว่าองค์ประกอบของรูปแบบการบริหารจัดการสถานศึกษาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ทั้ง 5 ส่วนมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด ( = 4.73, S.D. = 0.16) และมีความเป็นไปได้อยู่ในระดับมาก ( = 4.21, S.D. = 0.17)Article Details
ลิขสิทธิ์บทความวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ วไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ถือเป็นกรรมสิทธิ์ของคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ห้ามนำข้อความทั้งหมดหรือบางส่วนไปพิมพ์ซ้ำ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากมหาวิทยาลัยเป็นลายลักษณ์อักษร
ความรับผิดชอบ เนื้อหาต้นฉบับที่ปรากฏในวารสารมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ วไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นความรับผิดชอบของผู้นิพนธ์บทความหรือผู้เขียนเอง ทั้งนี้ไม่รวมความผิดพลาดอันเกิดจากเทคนิคการพิมพ์