การศึกษาปัจจัยเชิงสาเหตุของผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเพื่อพัฒนารูปแบบการสอน สำหรับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ที่เรียนรวมในชั้นเรียนปกติ

Main Article Content

พรรณรายณ์ ทรัพย์แสนดี
อุษา คงทอง

Abstract

            การวิจัยทางการศึกษาปัจจัยเชิงสาเหตุของผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเพื่อพัฒนารูปแบบการสอนสำหรับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ที่เรียนรวมในชั้นเรียนปกติมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาปัจจัยเชิงสาเหตุของผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ที่เรียนรวมในชั้นเรียนปกติ  2) เพื่อพัฒนารูปแบบการสอนสำหรับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ที่เรียนรวมในชั้นเรียนปกติ 3) เพื่อศึกษาผลของการใช้รูปแบบการสอนสำหรับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ที่เรียนรวมในชั้นเรียนปกติ ผู้วิจัยแบ่งการดำเนินเป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 การศึกษาปัจจัยเชิงสาเหตุของผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ที่เรียนรวมในชั้นเรียนปกติ  กำหนดกลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ในโรงเรียนสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาในภาคกลาง จำนวน 19 จังหวัด ได้มาจากการสุ่มแบบแบ่งชั้นภูมิ (Stratified Random Sampling) จำนวน 440 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย แบบสอบถามมาตราส่วนประมาณค่า มีค่าความเชื่อมั่น 0.98 ผู้วิจัยวิเคราะห์โมเดลเชิงโครงสร้างร่วมกับการวิเคราะห์เชิงยืนยัน (Confirmatory Analysis) โดยใช้โปรแกรมลิสเรล (LISREL) เวอร์ชั่น 9.1 รหัส: 823F-C5B0-8545-B412  ส่วนการวิจัยในระยะที่ 2 นั้นเป็นการพัฒนารูปแบบการสอนนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ที่เรียนรวมในชั้นเรียนปกติ ผู้วิจัยและผู้เชี่ยวชาญจำนวน 5 คน ได้ร่วมกันยกร่างรูปแบบและตรวจสอบความเหมาะสมของรูปแบบโดยพิจารณาจากค่าดัชนีความสอดคล้อง (IOC) โดยเครื่องมือที่ใช้ในการตรวจสอบ ได้แก่ แบบประเมินความเหมาะสมของรูปแบบ และในระยะที่ 3 เป็นการนำรูปแบบไปทดลองใช้จริงเพื่อศึกษาผลของการใช้รูปแบบการสอนสำหรับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ที่เรียนรวมในชั้นเรียนปกติ  โดยผู้วิจัยนำรูปแบบไปทดลองกับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ที่เรียนรวมในชั้นเรียนปกติ ซึ่งเป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนวัดไร่ขิง สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครปฐม เขต 1 ซึ่งเป็นนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ด้านการอ่าน โดยเลือกแบบเจาะจง จำนวน 3 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่  แผนการสอนแบบเรียนรวม  แผนการสอนเฉพาะบุคคล  อย่างละ 30 แผน แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์การอ่าน จำนวน 60 ข้อ โดยมีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.95 และแบบบันทึกพฤติกรรมการเรียนรู้ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติพื้นฐาน ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และทดสอบสมมติฐานด้วยสถิตินอนพาราเมตริกแบบ Wilcoxon Signed-Rank test

            ผลการวิจัยพบว่าในระยะที่ 1 ปัจจัยเชิงสาเหตุของสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ที่เรียนรวมในชั้นเรียนปกติได้แก่ ปัจจัยด้านครู (0.88) และ ปัจจัยด้านบรรยากาศการเรียนรู้ (0.80) ที่ระดับนัยสำคัญ 0.05 ระยะที่ 2 ผลของการพัฒนารูปแบบ ได้รูปแบบการสอนสำหรับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ที่เรียนรวมในชั้นเรียนปกติ โดยมีหลักการสำคัญ คือ ไม่แบ่งแยกนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ออกจากนักเรียนปกติซึ่งสอดคล้องกับวิถีการดำเนินชีวิตจริงในสังคม การออกแบบกิจกรรมการเรียนการสอนจึงจัดสำหรับนักเรียนปกติและนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ควบคู่กันไปภายใต้บรรยากาศที่เอื้อต่อการเรียนรู้ซึ่งเป็นบรรยากาศที่ผ่อนคลาย สนุกสนาน กิจกรรมการเรียนรู้เรียงลำดับจากง่ายไปหายาก เน้นการฝึกทักษะปฏิบัติ ผ่านสื่อที่หลากหลายเป็นของจริง มีการเสริมแรงโดยให้กำลังใจเป็นระยะๆ สำหรับ กระบวนการจัดการเรียนรู้มี 5 ขั้นตอน คือ ขั้นกระตุ้นความรู้ ขั้นเข้าสู่เนื้อหา ขั้นศึกษาให้เข้าใจ ขั้นฝึกใช้ให้คล่อง และขั้นลองทำชิ้นงาน ระยะที่ 3 ผลของการนำรูปแบบไปใช้กับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ที่เรียนรวมในชั้นเรียนปกติ พบว่าผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้ของนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการรู้หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน และผลจากการสังเกตพฤติกรรมระหว่างเรียนของนักเรียนแต่ละคนในแต่ละวันพบว่า นักเรียนมีความมั่นใจ กล้าแสดงออกมากขึ้นและมีความกระตือรือร้นที่จะเรียนในสิ่งที่ยากขึ้นไปอีก มีผลทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการอ่านพัฒนาขึ้น

Article Details

Section
บทความวิจัย