การจัดสภาพแวดล้อมทางสังคมเพื่อเสริมสร้างความสนใจและพฤติกรรมการอ่านของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ในจังหวัดบุรีรัมย์ : กรณีศึกษาชาติพันธุ์ไทยกลาง ลาวอีสาน เขมรถิ่นไทย ส่วย และไทยโคราช

Main Article Content

ประภาส พาวินันท์

Abstract

การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1)  ศึกษาพฤติกรรมการอ่านและทัศนคติต่อการอ่านของนักเรียน  และ (2) ศึกษาความคิดเห็นของครูต่อการพัฒนาการอ่านและปัญหาการส่งเสริมนิสัยรักการอ่านของนักเรียน  กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลได้แก่นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6  จำนวน 362 คนและครูโรงเรียนประถมศึกษา ในจังหวัดบุรีรัมย์ จำนวน 218 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลคือแบบสอบถามและการสัมภาษณ์  ซึ่งผลการวิจัยสรุปได้ว่า

นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ส่วนใหญ่ใช้เวลากับกิจกรรมเพื่อความบันเทิงและนันทนาการ คือ การฟังเพลง เล่นกีฬา ดูละครโทรทัศน์ ดูการ์ตูนโทรทัศน์ และเล่นเกม ส่วนการอ่านหนังสือเรียนเป็นกิจกรรมในลำดับรองลงมา นักเรียนส่วนใหญ่จะอ่านหนังสือในวันหยุดสุดสัปดาห์ และในเวลากลางคืนก่อนนอน ส่วนใหญ่ใช้สมุดโรงเรียนและใช้หนังสือในห้องเรียน  การเข้าร่วมกิจกรรมตอบปัญหาการอ่าน การอ่านหนังสือให้เพื่อนฟัง การอ่านบอร์ดความรู้ และการเข้าร่วมกิจกรรมเล่านิทานในโรงเรียน ปัญหาและอุปสรรคที่ส่งผลต่อการอ่านของนักเรียนคืองานบ้านเยอะ การบ้านเยอะเกินไป การดูโทรทัศน์ การเล่นกับเพื่อน และการเล่นกีฬาสนุกกว่าการอ่านหนังสือ

นักเรียนมีทัศนคติต่อการอ่านโดยรวมอยู่ในระดับมาก โดยข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุดคือ การอ่านทำให้รอบรู้ รองลงมาคือ นักเรียนอยากให้ห้องสมุดมีหนังสือน่าอ่าน การอ่านทำให้มีประสบการณ์มาก การอ่านช่วยพัฒนาทักษะการใช้ภาษา เป็นต้น เมื่อเปรียบเทียบทัศนคติต่อการอ่านของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ใน จังหวัดบุรีรัมย์ พบว่า นักเรียนหญิงมีทัศนคติสูงกว่านักเรียนชาย และนักเรียนที่มีผลการเรียนดีมีทัศนคติต่อการอ่านสูงกว่าผู้ที่มีผลการเรียนต่ำ นอกจากนี้ ยังพบว่า นักเรียนที่มาจากครอบครัวชาติพันธุ์ภาษาเขมรถิ่นไทยและกลุ่มครอบครัวชาติพันธุ์หลายภาษามีทัศนคติสูงกว่ากลุ่มชาติพันธุ์ภาษาไทยกลางและไทยโคราช อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05

ครูบรรณารักษ์มีความคิดเห็นต่อการพัฒนาการอ่านของนักเรียนชั้นประถมศึกษาในจังหวัดบุรีรัมย์โดยรวมอยู่ในระดับมาก โดยข้อที่มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมากที่สุด คือ ครูควรเป็นแม่แบบการอ่านแก่เด็ก และการช่วยให้เด็กมีความมั่นใจในการอ่าน และครูมีปัญหาในการส่งเสริมนิสัยรักการอ่านโดยรวมอยู่ในระดับมาก โดยข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุดคือ การศึกษาของผู้ปกครองส่งผลต่อการอ่านของเด็ก รองลงมา คือ ปัญหาครอบครัวส่งผลต่อการพัฒนาการอ่าน ชุมชนขาดแหล่งเรียนรู้เพื่อส่งเสริมการอ่าน หนังสือในท้องตลาดมีราคาแพง ห้องสมุดและหนังสือในโรงเรียนมีไม่เพียงพอ 

Article Details

Section
บทความวิจัย