แนวทางการตรวจสอบ ก่อนส่งบทความมายังวารสาร

2022-04-03

เรียน ผู้เขียนบทความ

            เพื่อให้บทความวิจัยเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานที่ทางวารสารกำหนด ก่อนเข้าสู่กระบวนการประเมินบทความโดยผู้ทรงคุณวุฒิ (reviewers) จำนวน 3 ท่าน ขอให้ผู้เขียนบทความโปรดทบทวนแนวทางการเขียนบทความตามข้อเสนอแนะ ก่อนส่งบทความมายังวารสาร โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

1. จัดลำดับหัวข้อของบทความ โดยประกอบด้วยส่วนหรือหัวข้อสำคัญหลัก คือ บทคัดย่อและคำสำคัญ (ไทยและอังกฤษ) 1) บทนำ 2) วิธีดำเนินการวิจัย 3) ผลการวิจัยและอภิปรายผล 4) สรุปผลการวิจัย 5) กิตติกรรมประกาศ และ 6) เอกสารอ้างอิง

2. บทคัดย่อ (Abstract) : เป็นการสรุปประเด็นเนื้อหาที่เป็นแก่นสาระสำคัญ เน้นประเด็นสำคัญของงานที่ต้องการนำเสนอ เขียนให้สั้น กระชับ มีความยาวไม่เกิน 10-15 บรรทัด หรือขนาดความยาวประมาณ 200-350 คํา บทคัดย่อมักประกอบด้วยเนื้อหา 3 ส่วนคือ เกริ่นนำมูลเหตุที่ทำวิจัย วิธีดำเนินการ และสรุปผลสำคัญที่ได้ ซึ่งอ่านแล้วต้องเห็นภาพรวมทั้งหมดของงาน ในส่วนคำสำคัญ (Keywords) ควรเลือกคำที่เกี่ยวข้องกับบทความ ประมาณ 3-5 คำ และควรตรวจสอบให้มั่นใจว่า abstract ภาษาอังกฤษมีใจความตรงกันกับบทคัดย่อภาษาไทย (ควรได้รับการตรวจสอบจากผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาอีกครั้ง)

3. บทนํา : ผู้เขียนควรชี้ให้ผู้อ่านเห็นความสำคัญของบทความนี้ สรุปแนวคิดทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง มีการทบทวนวรรณกรรมหรืองานวิจัยที่เกี่ยวข้อง โดยเลือกงานวิจัยที่สำคัญและทันสมัยเกี่ยวข้องกับบทความมาอ้างอิงในเนื้อหา แสดงถึงที่มาของปัญหาวิจัย วัตถุประสงค์ และขอบเขตของการวิจัย ในส่วนนี้สามารถนำนิยามศัพท์เฉพาะ และความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับเรื่องที่วิจัยศึกษา รวมทั้งประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ มาเขียนเป็นส่วนหนึ่งในบทนำได้

4. เนื้อความ : ระบุรูปแบบวิจัย เช่น การวิจัยเชิงปริมาณ การวิจัยเชิงคุณภาพ การวิจัยเชิงทดลอง เป็นต้น และระบุวิธีการดำเนินการวิจัย (ที่กล่าวถึงประชากรและกลุ่มตัวอย่าง/ เครื่องมือวิจัย/ ขั้นตอนการดำเนินการวิจัย/ ตัวแปร/สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ผลการวิจัย) แสดงสูตรการคำนวณเฉพาะทาง แต่ค่าสถิติพื้นฐาน เช่น ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน ผู้เขียนอาจกล่าวถึงได้ โดยไม่ต้องแสดงสูตรการคำนวณ เพื่อการประหยัดพื้นที่ในการเขียน

5. ผลการวิจัยและอภิปรายผล : รายงานผลตามวัตถุประสงค์ และอภิปรายเหตุผลที่ผลการวิจัยเป็นเช่นนั้น โดยอ้างอิงทฤษฎี หรืองานวิจัยที่เกี่ยวข้อง อาจเขียนผลการอภิปรายแยกออกมาต่างหาก หรือรวมการอภิปรายผลไว้กับผลหรือสิ่งที่ค้นพบก็ได้ ซึ่งสามารถยืนยันถึงความสำคัญของงานวิจัย โดยกล่าวถึงประโยชน์ของการศึกษาตามวัตถุประสงค์ และมีการเชื่อมโยงข้อค้นพบกับงานวิจัยอื่น ๆ

6. สรุปผลการวิจัย : ควรใช้ภาษาที่ชัดเจนและรัดกุม บ่งบอกถึงการตอบคำถามของการวิจัยที่ชัดเจนหรือสมมติฐานของการวิจัยที่ตั้งไว้ สรุปภาพรวมของผลการวิจัย ในลักษณะการวิเคราะห์และประมวลผล โดยไม่ยกผลการวิจัยทั้งหมดมาเขียน และไม่ควรอธิบายผลปลีกย่อยมากเกินไป

7. กิตติกรรมประกาศ : สามารถแสดงกิตติกรรมประกาศต่อบุคคลหรือสถาบันที่ให้การสนับสนุนที่สำคัญต่องานวิจัย ที่ไม่ใช่อาจารย์ที่ปรึกษาหรือผู้ที่มีชื่อร่วมในบทความวิจัย

8. การอ้างอิง : ให้รวบรวมรายชื่อสิ่งพิมพ์และข้อมูลความรู้ต่าง ๆ ที่ใช้เป็นหลักฐานหรือเอกสารอ้างอิงของบทความเท่านั้น โดยมีรูปแบบการเขียนอ้างอิงในเนื้อหาบทความ และท้ายบทความ ให้เป็นไปตามรูปแบบที่วารสารกำหนด

9. แนวทางในการพิจารณารับบทความเพื่อตีพิมพ์ในวารสาร JLIT มีดังนี้
            - บทความ ที่ส่งมาพิจารณา จะต้องไม่เคยเผยแพร่ในวารสารหรือสิ่งพิมพ์ใดมาก่อน (ยกเว้นรายงานการวิจัย และวิทยานิพนธ์) และไม่อยู่ในระหว่างการพิจารณารอตีพิมพ์ในวารสารอื่น
            - บทความมีประเด็นหรือแนวคิดที่ชัดเจน มีสาระทางวิชาการที่ถูกต้องทันสมัย การวิเคราะห์เป็นไปตามแนวคิดหรือทฤษฎีที่เหมาะสม
            - มีข้อเท็จจริงทางวิชาการ  ค้นคว้าอ้างอิงจากแหล่งข้อมูลที่หลากหลายและเชื่อถือได้  นำเสนอข้อมูลอย่างเข้าใจง่าย ใช้ศัพท์และภาษาทางวิชาการถูกต้องเหมาะสม
            - บทความต้องมีรูปแบบและส่วนประกอบต่าง ๆ ตาม Template Format ของวารสาร JLIT ดูได้จาก https://journal.fiet.kmutt.ac.th/download/summary/3-documents/11-25650428-jlit-template

10. เนื่องจากมีผู้ส่งบทความเข้ามาพิจารณาเป็นจำนวนมาก ทางวารสารฯ จึงขอสงวนสิทธิ์ในการจัดลำดับการตีพิมพ์เผยแพร่ในฉบับที่เท่าใด ทั้งนี้ ขึ้นกับระยะเวลาของกระบวนการตรวจสอบ ประเมิน แก้ไข และทบทวนจนกว่าจะมีคุณภาพอยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับของทีมบรรณาธิการวารสารฯ

 

ขอแสดงความนับถือ
ทีมบรรณาธิการวารสารนวัตกรรมการเรียนรู้และเทคโนโลยี