ละครเพื่อการเรียนรู้: การออกแบบกระบวนการเรียนรู้ผ่านละคร สำหรับพัฒนาเยาวชนในศตวรรษที่ 21
คำสำคัญ:
ละครเพื่อการเรียนรู้, กระบวนการละคร, ละครประยุกต์, ละครฐานชุมชนบทคัดย่อ
บทความนี้นำเสนอประสบการณ์เกี่ยวกับการออกแบบกระบวนการละครเพื่อการเรียนรู้สำหรับพัฒนาเยาวชนในศตวรรษที่ 21 ผ่านรายวิชาละครเพื่อการเรียนรู้ ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2557 ให้แก่นิสิตวิชาเอกการแสดงและกำกับการแสดง สาขาศิลปะการแสดง คณะดนตรีและการแสดง มหาวิทยาลัยบูรพา มีนิสิตเข้าร่วมกิจกรรมจำนวน 16 คน โดยออกแบบกระบวนการเรียนรู้ที่เรียกว่า ละครเพื่อการเรียนรู้ ซึ่งพัฒนามาจากแนวคิดด้านละครกับการเรียนรู้ แนวคิดการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ตรง (Experiential Learning) และแนวคิดของผู้อำนวยการเรียนรู้ (Facilitator)
ทั้งนี้ได้ออกแบบกระบวนการละครเป็น 3 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนการติดตั้งเครื่องมือในกายตนและการอยู่ร่วมกัน ขั้นตอนที่สองการสำรวจมุมมองชีวิตผ่านกิจกรรมเชิงละคร และขั้นตอนที่สามการเปิดรับมุมมองใหม่จากการพาเรียนรู้ชุมชนและสิ่งแวดล้อม วิธีการเก็บข้อมูลประกอบไปด้วยการสังเกต
การจัดบันทึก การจัดกิจกรรมสะท้อนความคิดเห็นและความรู้สึก (Refection) เครื่องมือที่ใช้เก็บข้อมูลประกอบไปด้วย สมุดบันทึกของผู้สอนและผู้เรียน ภาพวาด ข้อเขียนต่างๆ และผลงานการแสดงละคร จากนั้นนำข้อมูลมาวิเคราะห์ถึงมุมมองของผู้เรียนในประเด็นการพัฒนาเยาวชนใน
ศตวรรษที่ 21 ที่มุ่งสร้างให้เยาวชนมีจิตสำนึกต่อโลก ความรับผิดชอบต่อสังคมโลก มีทักษะการสื่อสารและทำงานร่วมกัน เป็นผู้ที่มีความคิดริเริ่มและชี้นำตนเอง
ผลการศึกษาพบว่า ผู้เรียนเกิดคุณลักษณะของเยาวชนในศตวรรษที่ 21 ผู้เรียนรู้สึกถึงความเชื่อมโยงระหว่างตนเองกับสิ่งแวดล้อม เกิดสำนึกเรื่องการสร้างการเปลี่ยนแปลงที่สามารถเริ่มต้นจากการเปลี่ยนแปลงภายในตนเอง เคารพและเชื่อมั่นในศักยภาพของตนเอง ผู้อื่นและชุมชน
เริ่มยอมรับในกันและกัน สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่น เกิดการสื่อสารอย่างตรงไปตรงมา นำพาให้ผู้เรียนย้อนคิดคำนึงถึงเส้นทางการใช้ชีวิตของตนเองโดยนำพาไปสู่การเรียนมุมมองชีวิตใหม่ จนก่อร่างความคิดว่าตนเองคือผู้ที่สามารถลงมือกระทำบางสิ่งในฐานะพลเมืองโลกได้