พัฒนาการหนังกลางแปลง และแนวทางการบริหารจัดการ กรณีศึกษา กาเหว่าภาพยนตร์ และท่าพระภาพยนตร์ พ.ศ. 2530-2559

ผู้แต่ง

  • งามนิส เขมาชฎากร คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

คำสำคัญ:

หนังกลางแปลง, การบริหารจัดการ, พัฒนาการ, คุณค่าและความสำคัญ, การดำรงอยู่อย่างยั่งยืน

บทคัดย่อ

การวิจัยเชิงคุณภาพนี้ มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อ 1.) ศึกษาพัฒนาการด้านการบริหารจัดการ
หนังกลางแปลง พ.ศ. 2530 – 2559 2.) เพื่อศึกษาคุณค่า ความสำคัญของหนังกลางแปลงที่มีต่อสังคมไทย 3.)เพื่อศึกษาแนวทางการดำรงอยู่ และนำเสนอแนวทางการอนุรักษ์หนังกลางแปลงอย่างยั่งยืน ประชากรกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 2 กลุ่ม คือ คณะกาเหว่าภาพยนตร์ ตั้งอยู่อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม และคณะท่าพระภาพยนตร์ ตั้งอยู่แขวงบางแวก เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร ผู้วิจัยอาศัยวิธีการรวบรวมข้อมูลจากเอกสาร และจากการลงพื้นที่ภาคสนาม โดยขั้นตอนการเรียบเรียงและวิเคราะห์ข้อมูลใช้หลักการจัดการมรดกทางวัฒนธรรมอย่างมีคุณภาพ หลักการจัดการความรู้ หลักการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน หลักการบริหารงานภาพยนตร์ และแนวคิดทฤษฎีเกี่ยวกับการบริหารองค์กร ผลการวิจัยพบว่า ประชากรตัวอย่างสามารถปรับเปลี่ยนระบบการบริหารจัดการไปตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละยุคสมัย โดยการปรับเปลี่ยนมีผลมาจาก ปัจจัยด้านเศรษฐกิจ ปัจจัยด้านการปรับเปลี่ยนเข้าสู่ยุคดิจิตอล ปัจจัยด้านลิขสิทธิ์งานภาพยนตร์  ปัจจัยด้านพัฒนาการทางเทคโนโลยีของ
โรงภาพยนตร์ ปัจจัยด้านสื่อบันเทิงที่เข้าถึงที่พักอาศัย และปัจจัยด้านบรรยากาศในการรับชมภาพยนตร์ ปัจจัยข้างต้นส่งผลให้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริหารงานภาพยนตร์ การบริหารจัดการด้านกระบวนการฉายหนังกลางแปลง การบริหารจัดการบุคลากร และการบริหารจัดการด้านการประชาสัมพันธ์หนังกลางแปลง นอกจากนี้หนังกลางแปลงยังมีบทบาทด้านบริบททางสังคมไทย ได้แก่ วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของสังคม การพากย์หนัง การแก้บน และทรรศนะทางสังคม อย่างไรก็ตามหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนที่เกี่ยวข้องควรสนับสนุนให้หนังกลางแปลงเป็นมหรสพที่มีความจำเป็นโดยการนำกลับมาเผยแพร่ในรูปแบบการจัดแสดงลักษณะกิจกรรมพิเศษ หรืองานอีเว้นท์ รวมถึงผู้ประกอบการกิจการหนังกลางแปลงควรให้ความสำคัญในการคัดสรรภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาสาระยกระดับจิตใจผู้ชม ตลอดจนผู้ประกอบการกิจการหนังกลางแปลงควรได้รับการสนับสนุนให้เป็นผู้มีความรู้ มีทักษะ มีมุมมอง และมีค่านิยมที่ถูกต้องเหมาะสม เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

Downloads

เผยแพร่แล้ว

30-06-2016