ยกอ้อ ยอคาย : พลวัตทัศนะเกี่ยวกับดนตรีและนาฏศิลป์ชาวอีสาน
คำสำคัญ:
ยกอ้อ ยอคาย, พิธีไหว้ครู, พลวัต, ทัศนะ, ดนตรี, นาฏศิลป์, อีสานบทคัดย่อ
การสร้างสรรค์ดนตรีและนาฏศิลป์เพื่อตอบสนองสุนทรียภาพของชีวิตถือได้ว่าเป็นอัจฉริยภาพของมนุษย์ทุกกลุ่มชาติพันธุ์ พัฒนาการของดนตรีและนาฏศิลป์เป็นสิ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาละและเทศะ ดนตรีและนาฏศิลป์จึงไม่ใช่สิ่งที่หยุดนิ่งแต่เป็นสิ่งที่เป็นพลวัต เช่นเดียวกับดนตรีและนาฏศิลป์ในดินแดนอีสาน พื้นที่ที่มีผู้คนอาศัยอยู่มาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ และปัจจุบันคนที่อาศัยในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยถูกเรียกโดยรวมว่าชาวอีสาน การสร้างสรรค์ดนตรีและนาฏศิลป์ของชาวอีสานมีร่องรอยจากหลักฐานทางโบราณคดีเช่นภาพเขียนสีที่เพิงผาหน้าถ้ำหรือชิ้นส่วนของโบราณวัตถุที่มีการขุดค้นพบ สะท้อนให้เห็นว่าดนตรีและนาฏศิลป์ชาวอีสานมีความสัมพันธ์กับความเชื่อในอำนาจเหนือธรรมชาติ และระบบความเชื่อดังกล่าวได้มีการสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน โดยได้รับอิทธิพลจากโลกทัศน์ทางศาสนาของ พุทธ-พราหมณ์-ผี อำนาจเหนือธรรมชาติที่สร้างสรรค์ดนตรีและนาฏศิลป์ของชาวอีสานนี้ถูกยกย่องในฐานะของครู ที่ผู้สืบทอดและทำการแสดงจะต้องทำการไหว้ครูเพื่อระลึกถึงบุญคุณและขอให้ครูบันดาลให้การแสดงนั้นประสบความสำเร็จ
พิธีกรรมไหว้ครูดนตรีและนาฏศิลป์ชาวอีสานเรียกว่า “ยกอ้อ ยอคาย” เรื่องราวเกี่ยวกับพิธียกอ้อ ยอคาย จึงเป็นสิ่งที่ให้ภาพสะท้อนถึงโลกทัศน์เกี่ยวกับดนตรีและนาฏศิลป์ของชาวอีสาน ที่มีความเป็นพลวัตกล่าวคือมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เรื่องราวนี้จึงเป็นการถอดรหัสความรู้เพื่อทำความเข้าใจอดีตแล้วเชื่อมโยงมาสู่เรื่องราวของดนตรีและนาฏศิลป์ของชาวอีสานในปัจจุบัน สำหรับนำมาเป็นฐานความรู้ในการสร้างสรรค์สำหรับอนาคต