ละครเพลง : กระบวนการเพื่อการพัฒนาทักษะการแสดงนักศึกษาศิลปะการแสดง

ผู้แต่ง

  • วรภพ เจริญมโนพร คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม วิทยาเขตชลบุรี

คำสำคัญ:

ละครเพลง, การพัฒนาทักษะการแสดง

บทคัดย่อ

สาขาวิชาศิลปะการแสดง คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม วิทยาเขตชลบุรี หลักสูตรศิลปกรรมศาสตรบัณฑิตทำการเปิดหลักสูตรขึ้นในปีการศึกษา 2558 เพื่อพัฒนาทักษะความสามารถและส่งเสริมให้นักศึกษาเรียนรู้จากประสบการณ์จริงตามนโยบายของทางมหาวิทยาลัย
บทความนี้จึงนำเสนอประสบการณ์ทางด้านกระบวนการละครเพื่อการพัฒนาในรูปแบบ “ละครเพลง” เพื่อพัฒนาทักษะทางการแสดงของนักศึกษาสาขาวิชาศิลปะการแสดง คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม วิทยาเขตชลบุรี มีนักศึกษาเข้าร่วมกิจกรรมจำนวน 30 คน โดยนำแนวคิดของละครที่เรียกว่า ละครในการศึกษา หรือ Drama in Education – DIE ที่นำกระบวนการละครมาพัฒนากลุ่มผู้เรียนในชั้นเรียน โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาผู้มีส่วนร่วมในกิจกรรม และให้ความสำคัญกับการพัฒนากลุ่มผู้เรียนมากกว่าผลผลิตละคร (พรรัตน์ ดำรุง, 2557) รวมถึงการนำแนวการใช้
สื่อละครเพื่อการพัฒนา 3H กำหนดเป้าหมายของกิจกรรมเพื่อมุ่งพัฒนานักศึกษาผู้เข้าร่วม 3 ด้านได้แก่ 1) พัฒนาความรู้ (Head) 2) พัฒนาทักษะ (Hand) 3) พัฒนาความรู้สึก (Heart) (กาญจนา แก้วเทพ, 2552) โดยออกแบบกระบวนการเป็นขั้นตอนในการทำกิจกรรม ดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 หลักการและวิธีคิด เป็นขั้นตอนการพัฒนาทักษะความรู้เน้นเรื่องบทละครเพลงที่นำมาใช้ การเล่าเรื่อง ประเด็นและแก่นของเรื่อง ขั้นตอนที่ 2 สร้างเครื่องมือและพัฒนาทักษะ แบ่งออกเป็นตามลักษณะของรูปแบบละครเพลง คือ ทักษะการร้อง ทักษะการเต้น และทักษะการแสดง และขั้นตอนที่ 3 แลกเปลี่ยนประสบการณ์ เพื่อเปิดรับมุมมองของนักศึกษา ผู้เข้าร่วมได้ทบทวนตนเอง และแบ่งปันความรู้สึกหรือสิ่งที่ได้รับให้กับคนอื่น ๆ โดยจัดเป็นกิจกรรมสะท้อนความคิดและความรู้สึก จากนั้นเป็นการรวบรวมข้อมูลสรุปจากเครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูล ประกอบไปด้วย
สมุดบันทึกของอาจารย์และนักศึกษาภาพวาด ข้อเขียนต่าง ๆ และผลงานการแสดงละครเพลง จากนั้นนำข้อมูลมาวิเคราะห์ทักษะทางศิลปะการแสดงทั้ง 3H ดังกล่าวข้างต้น
ผลการศึกษาพบว่า นักศึกษาที่เข้าร่วมกิจกรรมพัฒนาทักษะทางศิลปะการแสดง โดยละครเพลง ตลอดระยะเวลา 16 สัปดาห์ เกิดการเรียนรู้และพัฒนาทักษะของตนเองจากประสบการณ์ตรงในการเข้าพัฒนาทักษะการร้อง การเต้น และการแสดง นักศึกษาพบเจอปัญหาในการแสดง และสามารถเรียนรู้แนวทางการแก้ปัญหาของตนเองได้จากประสบการณ์ เริ่มทำความเข้าใจกับความรู้ที่เป็นทั้งทฤษฎีและแนวปฏิบัติจากการสะท้อนความคิดซึ่งกันและกัน รวมไปถึงประสบการณ์ใหม่ในการออกแสดงจริงสู่สายตาสาธารณชน

Downloads

เผยแพร่แล้ว

30-06-2018