ลักษณะเฉพาะของวงปี่จุม : ช่างปี่ ช่างซอ และสล่าปี่เมืองลำพูน

ผู้แต่ง

  • นิตยา อุตระธานี คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

คำสำคัญ:

ปี่จุม, ช่างปี่, ช่างซอ, สล่าปี่

บทคัดย่อ

การวิจัยเรื่องคุณลักษณะเฉพาะวงปี่จุม ช่างปี่ ช่างซอและสล่าปี่เมืองลำพูน มีวัตถุประสงค์สำคัญคือ 1. เพื่อศึกษาภูมิสังคมวัฒนธรรม วิถีชีวิตของชาวเมืองลำพูน 2. เพื่อศึกษาลักษณะเฉพาะของวงปี่จุมและบริบททางวัฒนธรรมดนตรีของเมืองลำพูน 3. เพื่อวิเคราะห์ลักษณะทางกายภาพและระบบเสียงปี่จุมของสล่าปี่เมืองลำพูน การวิจัยครั้งนี้ได้สำรวจบันทึก จำแนก วิเคราะห์จากวงปี่จุมทั้งสองคณะได้แก่ คณะร่วมมิตรสามัคคี ที่บ้านปางส้าน ตำบลดงดำ อำเภอลี้และคณะลูกแม่ลี้สามัคคี บ้านทุ่งข้าวหาง อำเภอทุ่งหัวช้าง ซึ่งนำระเบียบวิธีดำเนินการวิจัย คือหลักการบริหารมรดกทางวัฒนธรรมอย่างมีคุณภาพ มาประยุกต์ใช้กับผลการวิจัย ผลการวิจัยสรุปว่าภูมิสังคมและวัฒนธรรมการดนตรีเมืองลำพูนพบว่า เมืองลำพูนเป็นเมืองเก่ายุคทวารวดี มีเมืองหริภุญไชยเป็นราชธานี ซึ่งปรากฏหลักฐานทางโบราณคดี วิถีชีวิตการอยู่อาศัยเป็นแบบเรียบง่ายมีความหนาแน่นของประชากรมากที่สุด ในภาคเหนือตอนบน มีความแข็งแกร่งทางด้านวัฒนธรรม ดนตรีพื้นเมืองของล้านนามีลักษณะเป็นดนตรีแบบพื้นถิ่นที่ประกอบด้วยท่วงทำนองและการขับร้องอย่างมีเอกลักษณ์แบบพื้นเมืองเหนือ เครื่องดนตรีของล้านนาที่ประดิษฐ์ขึ้นจากวัสดุใน
ท้องถิ่นมักทำกันเองแบบง่ายๆ โดยผู้เล่น เพื่อทำให้เกิดเสียงและใช้ในการบรรเลงร่วมกันในหมู่บ้าน ซึ่งเป็นสังคม ผู้วิจัยสำรวจวงปี่จุมคณะร่วมมิตรสามัคคี ที่บ้านปางส้าน ตำบลดงดำ อำเภอลี้และคณะลูกแม่ลี้สามัคคี บ้านทุ่งข้าวหาง อำเภอทุ่งหัวช้าง พบว่าทั้งสองคณะมีเพลงที่เป็นของแท้ดั้งเดิมคือ 1) เพลงตั้งเชียงใหม่ มี 10 ท่อน พร้อมคำร้องที่มีเนื้อหาเป็นบทปฐมฤฏษ์ 2) เพลงจะปุ มี 2 ท่อน พร้อมคำร้องที่เป็นนิทาน เล่าเรื่อง 3) เพลงละหม้าย มี 2 ท่อน พร้อมคำร้องที่เป็นนิทานและเรื่องเล่าที่ครึกครื้นสนุกสนาน 4) เพลงอื่อ มีท่อนเดียว คำร้องเป็นบทอำลา ส่วนเครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบเพลงได้บันทึกโน้ตไทย ประกอบด้วยปี่ 3 เล่ม คือ ปี่กลาง ปี่ก้อย ปี่เล็กและซึง ไม่มีกลองเมืองกำกับจังหวะ คณะร่วมมิตรสามัคคีขับซอ โดย แม่บัวผัน ทิวงศ์ษา ส่วนคณะลูกแม่ลี้สามัคคีขับซอโดย แม่ปราณี จันต๊ะ ส่วนสล่าทำปี่พบเพียงคณะเดียวคือคณะร่วมมิตรสามัคคี ประดิษฐ์โดยพ่อสมฤทธิ์ เป็งดอย ซึ่งมีแนวตั้งเสียงที่เก่าแก่คือ ปี่ก้อยมีฐานเสียง ซอลต่ำ- ซอลสูง ปรากฏระยะชิดที่ 1-2 และ 6-7 ปี่กลางมีฐานเสียง โดต่ำ-โดสูง ปรากฏระยะชิดที่ 4-5 ปี่เล็ก มีฐานเสียง โดต่ำ-โดสูง ปรากฏระยะชิดที่ 1-2 ตามลำดับ ชาวบ้านยังคงรักษาขนบธรรมเนียมประเพณี
ต่างๆ ไม่ค่อยเกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านวัฒนธรรมความเป็นอยู่มากนัก จึงเป็นเหตุผลให้วงปี่จุมในจังหวัดลำพูนมีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ เป็นของดั้งเดิมที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ ยังคงรักษาบทบาทหน้าที่ในการให้ความบันเทิงและเผยแพร่โดยการให้ความรู้แก่ชุมชนต่อไปในอนาคต

Downloads

เผยแพร่แล้ว

31-12-2019