อัตลักษณ์ดนตรีอูรักลาโว้ย

ผู้แต่ง

  • จารุวัฒน์ นวลใย คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

คำสำคัญ:

ชาวเล, อูรักลาโว้ย, อัตลักษณ์ทางดนตรี, ความสัมพันธ์ระหว่างดนตรีกับวิถีชีวิต

บทคัดย่อ

การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาอัตลักษณ์ทางดนตรีอูรักลาโว้ย และ 2) ความสัมพันธ์ระหว่างดนตรีกับวิถีชีวิตของอูรักลาโว้ย เป็นวิจัยเชิงคุณภาพทางด้านดนตรีวิทยา การศึกษาเลือกผู้ที่มีความรู้ ผู้ปฏิบัติ และผู้ที่เกี่ยวข้องที่มีประสบการณ์ดนตรีอูรักลาโว้ยเป็นเวลานาน จากคำแนะนำของบุคคลในชุมชนที่บอกต่อๆ กันไป ซึ่งเป็นบุคคลที่ได้รับการกล่าวถึงบ่อยที่สุด และเลือกตามเหตุการณ์ หรือสถานที่เฉพาะหน้าขณะพบผู้รู้โดยบังเอิญในการเก็บข้อมูล เครื่องมือที่ใช้เก็บรวบรวมข้อมูลประกอบด้วย แบบสำรวจ แบบสังเกต และแบบสัมภาษณ์ วิเคราะห์โดยใช้แนวคิด อัตลักษณ์ชาติพันธุ์ เลือกพื้นที่ศึกษาได้แก่ บ้านแหลมตุ๊กแก บริเวณหาดราไวย์ อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต บ้านสังกะอู้ อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ และเกาะหลีเป๊ะ อำเภอเมือง จังหวัดสตูล ผลจากการศึกษาพบว่า 1) อัตลักษณ์เครื่องดนตรีแบ่งตามแหล่งการกำเนิดเสียงเป็น 4 ประเภท ได้แก่ ฆีเซะ รือฆู ปาลู และกาเตาะ ในส่วนของลักษณะวงดนตรีแบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ บาลัฮรูเงก บาลัฮบรานา บาลัฮฆาโญก และบทเพลงแบ่งตามวัตถุประสงค์การบรรเลง ได้แก่ ลาฆูตาโบะ ลาฆูรามัย ลาฆูบลาวัด และลาฆูตาเบะ 2) ความสัมพันธ์ระหว่างดนตรีกับวิถีชีวิตอูรักลาโว้ย มี 2 ความสัมพันธ์หลัก คือ ดนตรีกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่เหนือธรรมชาติ และดนตรีกับการอยู่ร่วมกันของคนในสังคม

Downloads

เผยแพร่แล้ว

30-06-2020