การสืบทอดอัตลักษณ์การตีกลองก้นยาวของแรงงานชาวไทใหญ่ในจังหวัดระยอง
คำสำคัญ:
ไทใหญ่, จังหวัดระยอง, กลองก้นยาวบทคัดย่อ
งานวิจัยเรื่องการสืบทอดอัตลักษณ์การตีกลองก้นยาวของแรงงานชาวไทใหญ่จังหวัดระยอง เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการเคลื่อนย้ายแรงงานชาวไทใหญ่และรวบรวมข้อมูล ของชมรมชาวไทใหญ่จังหวัดระยอง และศึกษาการตีกลองก้นยาวของชาวไทใหญ่ในจังหวัดระยอง ศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลจากเอกสารและสัมภาษณ์บุคคลข้อมูล จำนวน 38 ท่าน โดยใช้หลักการวิเคราะห์ทางมานุษยวิทยาทางดนตรี ผลการวิจัยพบว่าชมรมชาวไทใหญ่จังหวัดระยองก่อตั้งขึ้นโดยชาวไทใหญ่จากรัฐฉานเป็นแห่งแรกของประเทศไทย เพื่อสร้างความเป็นพลวัตด้วยกิจกรรมทางสังคม โดยเฉพาะด้านศิลปวัฒนธรรมที่ผสมผสานกับสังคมท้องถิ่นอย่างกลมกลืน วงกลองก้นยาวเป็นวงดนตรีที่มีความเป็นสิริมงคล ใช้ในงานบุญประเพณีและกิจกรรมทางสังคม ซึ่งประกอบด้วยกลองก้นยาว 1 ใบ ทำหน้าที่สร้างกระสวนจังหวะอย่างหลากหลาย มอง 1 ชุด ทำหน้าที่ควบคุมจังหวะ และแส่ง 1 คู่ ทำหน้าที่ตีสอดประสานกับกระสวนจังหวะของกลองก้นยาว การบรรเลงมีลักษณะเป็นการด้นทั้งหมด สุนทรียภาพแสดงถึงความสนุกสนาน การตีกลองก้นยาวรับแขกมีโครงสร้าง คือ กระสวนจังหวะพื้นฐาน เรียงกระสวนจังหวะ และชุดกระสวนจังหวะ ซึ่งมีการจบชุดกระสวนจังหวะอย่างชัดเจน รูปแบบการตีเป็นการทอนจังหวะ และมีจังหวะเร็ว การตีกลองก้นยาวประกอบการแสดงกิงกะหล่าตีตามอากัปกิริยาของผู้แสดงและมีจังหวะค่อนข้างเร็ว ส่วนการตีกลองก้นยาวประกอบการแสดงก้าปั่นก๋องมีโครงสร้างและรูปแบบเช่นเดียวกับการตีกลองก้นยาวรับแขก แต่จะมีจังหวะช้า