การวิเคราะห์รูปแบบการแสดงลิเกลูกบทคณะวิโรจน์ หลานหอมหวล เรื่องจันทโครพ

ผู้แต่ง

  • นภัสรัญชน์ มิตรธีรโรจน์ คณะศิลปนาฏดุริยางค์ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กระทรวงวัฒนธรรม

คำสำคัญ:

รูปแบบการแสดง, ลิเกลูกบท, วิโรจน์ หลานหอมหวล, จันทโครพ

บทคัดย่อ

บทความวิจัยเรื่องการวิเคราะห์รูปแบบการแสดงลิเกลูกบทคณะวิโรจน์ หลานหอมหวล เรื่องจันทโครพ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงความเป็นมาของการแสดงลิเกของครูวิโรจน์ วีระวัฒนานนท์ ศึกษารูปแบบและองค์ประกอบในการแสดงลิเกลูกบทของครูวิโรจน์ วีระวัฒนานนท์ ตลอดจนวิเคราะห์รูปแบบและองค์ประกอบในการแสดงลิเกลูกบทของครูวิโรจน์ วีระวัฒนานนท์ โดยกำหนดขอบเขตการศึกษาการแสดงลิเกลูกบท เรื่องจันทโครพ ของครูวิโรจน์ วีระวัฒนานนท์ ใช้ระเบียบวิธีวิจัย ตามกระบวนการวิจัยเชิงคุณภาพ ผลการวิจัยพบว่า การแสดงลิเกลูกบทของครูวิโรจน์ ได้รับถ่ายทอดมาจากครูหอมหวล นาคศิริ ซึ่งเป็นคุณตา เมื่อตอนอายุ 12 ปี พร้อมกับเด็กรุ่นราวคราวเดียวกัน โดยมีครูน้อม รักตประจิต ครูละครวังสวนกุหลาบฝึกหัดพื้นฐานการร่ายรำเพลงช้า เพลงเร็ว เพลงแม่บท และเพลงหน้าพาทย์ให้ เมื่อฝึกหัดจนชำนาญและสามารถแสดงได้แล้ว ครูหอมหวลจึงตั้งเป็นคณะ “หอมหวลรุ่นพิเศษ” ซึ่งคำว่ารุ่นพิเศษ คือ รุ่นสุดท้ายครูหอมหวลจะฝึกหัดลิเกให้รับการแสดงลิเกจนมีชื่อเสียงโด่งดัง ต่อมาครูวิโรจน์ได้ตั้งคณะลิเกเป็นของตนเองโดยใช้ชื่อคณะว่า “คณะวิโรจน์ หลานหอมหวล” โดยมีผู้แสดงเป็นผู้ที่เคยแสดงร่วมกันมาตั้งแต่แสดงอยู่คณะหอมหวลรุ่นพิเศษ แสดงในรูปแบบลิเกลูกบทของครูหอมหวล นาคศิริ คือ เพลงราชนิเกลิง เพลงหงส์ทอง และเพลงไทยอัตราจังหวะสองชั้นประเภทเพลงเกร็ด และใช้เพลงหน้าพาทย์ประกอบอิริยาบทต่างๆ ในการแสดง ผู้แสดงตัวพระแต่งกายด้วยเสื้อคอกลมสวมทับด้วยเสื้อกั๊ก นุ่งผ้าโจงกระเบนในลักษณะการนุ่งผ้าแบบลูกบท เคียนศีรษะ คาดหน้าด้วยเพชร ตัวนางนุ่งผ้าจีบหน้านาง ห่มสไบ ใช้วงปี่พาทย์บรรเลงประกอบการแสดง ขั้นตอนการแสดงเริ่มจาก การโหมโรงบูชาครู การออกแขก แล้วจึงจับเรื่องแสดง ในส่วนของการแสดงลิเกลูกบทเรื่องจันทโครพ ดำเนินเรื่องตามบทลิเกของครูวิโรจน์ที่ประพันธ์ไว้ โดยเปิดเรื่องด้วยตัวจันทโครพกล่าวจะขึ้นไปลาพระฤษีกลับบ้านเมือง หลังจากนั้นดำเนินเรื่องตามวรรณกรรม และปิดเรื่องด้วยฉากนางโมรายื่นพระขรรค์ให้โจร

Downloads

เผยแพร่แล้ว

30-12-2020