การสร้างนาฏกรรมในเทศกาลตรุษจีนนครสวรรค์
คำสำคัญ:
นาฏกรรม, เทศกาลตรุษจีน, นครสวรรค์บทคัดย่อ
บทความฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาการสร้างนาฏกรรมในงานเทศกาลตรุษจีน ตำบลปากน้ำโพ อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2460 จนถึง พ.ศ. 2560 ผู้วิจัยใช้วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยศึกษาค้นคว้าจากเอกสาร ตำรา งานวิจัย การลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลในการสัมภาษณ์ การสังเกตการณ์ และนำเสนอข้อมูลด้วยการพรรณนาวิเคราะห์ ตามวัตถุประสงค์ในการวิจัย
ผลการศึกษาพบว่า นาฏกรรมในเทศกาลตรุษจีนนครสวรรค์ เป็นการแสดงกลางแจ้งในรูปแบบขบวนแห่บนท้องถนน แบ่งได้เป็น 3 ช่วง คือ วัฒนธรรมดั้งเดิม วัฒนธรรมออกภาษา และวัฒนธรรมนำเข้า ซึ่งมี 3 ประเภท ได้แก่ 1) การแสดงกายกรรม มี 6 ขบวน คือ ขบวนมังกรทอง ขบวนเสือไหหลำ ขบวนสิงโตกว๋องสิว สิงโตฮากกา สิงโตปักกิ่ง และสิงโตฮกเกี้ยน 2) การแสดงบทบาทสมมติ มี 9 ขบวน คือ ขบวนแห่เจ้าพ่อ–เจ้าแม่ ปากน้ำโพ พะโหล่ว (ฆ้อง) โบ้ยโบ้ (อาวุธเจ้า) ไซกี่ (ถือธง) เขียเปีย (ป้ายอวยพร) ขบวนองค์สมมติเจ้าแม่กวนอิม ขบวนพระถังซำจั๋ง ขบวนเอ็งกอ–พะบู๊ ขบวนนางฟ้า และ 3) การแสดงวิถีชีวิต มี 2 ขบวน คือ ขบวนรำถ้วยไหหลำ และขบวนล่อโก้ว นาฏกรรมสร้างสรรค์ขึ้นจากพลังความเชื่อและความศรัทธา ผสานความสามัคคีของคนในชุมชนนครสวรรค์ โดยถ่ายทอดเรื่องราว วิถีชีวิต ศาสนา ขนบธรรมนียม ประเพณี และศิลปวัฒนธรรมของคนจีน ผ่านการแสดงออกมาทางภาษา ท่าทาง ทำนองดนตรี และเครื่องแต่งกาย อีกทั้งยังสะท้อนรากเหง้าของบรรพบุรุษ และอัตลักษณ์ชุมชนจีนในจังหวัดนครสวรรค์ รวมถึงมิตรภาพ และความสัมพันธ์อันดีของคนในชุมชน ทั้งชาวไทย ชาวจีน ชาวไทยเชื้อสายจีน