กลองขุมดิน มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมดนตรีล้านนา

ผู้แต่ง

  • รณฤทธิ์ ไหมทอง คณะศิลปศึกษา วิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่

คำสำคัญ:

กลองขุมดิน, ภูมิปัญญา, วัฒนธรรมดนตรีล้านนา

บทคัดย่อ

    บทความนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อต้องการนำเสนอแนวความคิดมรกดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมดนตรีล้านนา มีเรื่องราวความเป็นมาของเครื่องดนตรีที่ได้พัฒนาขึ้นจากภูมิปัญญาของศิลปินพื้นบ้าน โดยจะนำเสนอในเครื่องดนตรีประเภท “กลอง” ศิลปวัฒนธรรมล้านนาเป็นแหล่งที่เต็มไปด้วยองค์ความรู้ทางด้านศิลปะที่ถ่ายทอดกันมาจากอดีตสู่ปัจจุบัน มีเอกลักษณ์ทางภูมิภาคที่โดดเด่นในเรื่องของศิลปวัฒนธรรม โดยเฉพาะในเรื่องของวัฒนธรรมดนตรีล้านนา ศิลปะวัฒนธรรมดนตรีของล้านนามีความเป็นอัตลักษณ์ ทั้งเรื่องของเครื่องดนตรี และสำเนียงดนตรี โดยเฉพาะเครื่องดนตรีประเภท “กลอง” ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีที่แพร่หลายตามภูมิภาคต่าง ๆ มีคุณสมบัติที่สำคัญ คือ เสียงที่ดังก้องกังวานและมีความไพเราะตามคุณลักษณะของวัสดุที่ทำขึ้น ประกอบกับลีลาการตีกลอง ที่ได้รับสร้างสรรค์อย่างมีศิลปะ กลองหลาย ๆ ชนิดเป็นที่รู้จักอย่างดีโดยทั่วไป สำหรับทางวัฒนธรรมดนตรีล้านนานั้น กลองขุมดิน เป็นกลองอีกชนิดหนึ่งที่สืบทอดมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีคำกล่าวว่าในสมัยโบราณนั้น มนุษย์ได้ประดิษฐ์เป็นเครื่องดนตรีขึ้นมา เพื่อใช้สำหรับเตือนภัยของมนุษย์ที่อาศัยอยู่ในถ้ำ ใช้ตีเพื่อบอกสัญญาณให้ผู้ที่อาศัยได้รับรู้ถึงเหตุการณที่จะเกิดขึ้น โดยจะใช้มือตีที่บริเวณปากหลุมให้เสียงดังกังวาน ต่อมาสิ่งนี้ได้เกิดเป็นเครื่องดนตรีจากแนวคิดทางภูมิปัญญาของศิลปินล้านนาที่ได้พบเห็นแล้วนำมาพัฒนาเป็นกลองดิน หรือ กลองขุมดิน จากศิลปินของล้านนา 2 ท่านได้แก่ พ่อครูคำ กาไวย์ และพ่อครูมานพ รายะณะ ในทางความเชื่อของกลองขุมดินจะมีความเชื่อว่าเป็นการตีเพื่อเรียกฝนให้ตกลงมาสู่พื้นดินเพื่อความอุดมสมบูรณ์ โดยครูทั้งสองท่านได้พัฒนามาเป็นกลองดินฉบับของตน พ่อครูคำ กาไวย์ ได้พัฒนากลองดินมาเป็นลักษณะของกลองกาบหมาก โดยการขุดดินลักษณะแบบเดิมแต่ใช้แผ่นกาบหมากมาวางที่ปากหลุม จากนั้นใช้ไม้ไผ่มาวางตรงกลางในแนวตั้งนำเชือกมาคลึงให้ตึงและใช้ไม้ตี ส่วนพ่อครูมานพ รายะณะ ได้อนุรักษ์แบบดั่งเดิมไว้ เพียงแต่ได้ใช้หนังมาหุ้มที่ปากหลุม ต่อมาพ่อครูมงคล เสียงชารี ลูกศิษย์ของพ่อครูมานพ รายะณะ ได้นำแนวคิดของครูมาต่อยอด โดยการปั้นกลองที่ใช้วัสดุจากดินผสมปูนซีเมนต์ขึ้นมา เพื่อสร้างเป็นแหล่งเรียนรู้ และเผยแพร่ให้แก่ผู้ที่สนใจศึกษาเรื่องราวต่อไป  บทความนี้หวังว่าจะเป็นประโยชน์และเป็นที่รู้จักกันมากขึ้นในวงการศึกษาทางศิลปวัฒนธรรมดนตรีล้านนาที่จะช่วยกันอนุรักษ์ ต่อยอด และเกิดการสร้างสรรค์ในทางศิลปะสืบไป  



References

เนตรนภิส พัฒนเจริญ และคณะ. (2563). การศึกษาวัฒนธรรมกลองสะบัดชัยแบบประยุกต์: กรณีศึกษา: ครูคำ กาไวย. วารสารสังคมศาสตร์และมานุษยวิทยาเชิงพุทธ 5(5), 96-97.

ปริศนา พงษ์ทัดศิริกุล. (2553). มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม. กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม.

วันชัยยุทธ วงษ์เทพ. (2556). ศิลปะกลองภูมิปัญญาล้านนา สู่การออกแบบภายในศูนย์ดุริยางคศิลป์ ล้านนา. [วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต ไม่ได้ตีพิมพ์]. มหาวิทยาลัยศิลปากร.

สนั่น ธรรมธิ. (2550). นาฏดุริยการล้านนา. สุเทพการพิมพ์.

สุกรี เจริญสุข. (2538). ดนตรีชาวสยาม. Dr. Sax.

สุรพล ดำริห์กุล. (2524). ล้านนา. รุ่งอรุณ พับลิชชิ่ง.

อานันท์ นาคคง. (2537). ยังไม่สิ้นเสียงกลอง. ที่ระลึกงานไหว้ครูดนตรีไทย ประจำปีการศึกษา 2537 ภาควิชาดนตรี คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

25-12-2023