การถ่ายทอดดนตรีพื้นเมืองล้านนาของเจ้าสุนทร ณ เชียงใหม่
คำสำคัญ:
การสืบทอด, ดนตรีพื้นเมืองล้านนา, เจ้าสุนทร ณ เชียงใหม่บทคัดย่อ
งานวิจัยเรื่อง การถ่ายทอดดนตรีพื้นเมืองล้านนาของเจ้าสุนทร ณ เชียงใหม่ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาชีวประวัติและผลงาน การพัฒนาและการถ่ายทอดดนตรีพื้นเมืองล้านนาของเจ้าสุนทร ณ เชียงใหม่ ใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ ผลการวิจัยพบว่า เจ้าสุนทร ณ เชียงใหม่ เกิดและเติบโตในตระกูลเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ จึงได้เรียนดนตรีพื้นเมืองล้านนาและเรียนเครื่องสายไทยในคุ้มหลวงมาแต่เยาว์วัย เมื่อได้รับเชิญเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านดนตรีพื้นเมืองล้านนา ของวิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่ จึงนำระเบียบวิธีการบรรเลงของวงดนตรีไทยมาใช้กับวงสะล้อ ซึง ทั้งการพัฒนารูปแบบการจัดวงการพัฒนารูปแบบการประสมวง พัฒนาขนาดและระดับเสียงของสะล้อและซึง ส่งผลให้วงสะล้อ ซึง มีแบบแผนการบรรเลงที่มีมาตรฐาน รวมทั้งการบันทึกโน้ตเพลงพื้นเมืองล้านนา และนำลูกบิดกีตาร์มาใช้กับซึง ทำให้ระดับเสียงไม่ลดระหว่างบรรเลง
เจ้าสุนทร ณ เชียงใหม่ ถ่ายทอดความรู้ดนตรีพื้นเมืองล้านนา ให้กับนักเรียนวิชาเอกดนตรีไทย วิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่และลูกศิษย์ในกลุ่มช่างสร้างเครื่องดนตรี การถ่ายทอดเริ่มจากการสาธิตให้ดูและการนอยเสียง แล้วจึงถ่ายทอดเพลงในกลุ่มเพลงพื้นฐาน กลุ่มเพลงชั้นกลางและกลุ่มเพลงชั้นสูง การถ่ายทอดการบรรเลงรวมวง รวมถึงการถ่ายทอดกลวิธีในการบรรเลงแบบดั้งเดิมของดนตรีพื้นเมืองล้านนาและนำกลวิธีพิเศษของดนตรีไทยมาใช้กับการบรรเลง แบบแผนการบรรเลงสะล้อและซึงของเจ้าสุนทร ณ เชียงใหม่ ยังคงสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน โดยมีสายการสืบทอดสำคัญ คือ ลูกศิษย์ในวิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่ เนื่องจากส่วนใหญ่ประกอบอาชีพครูดนตรีไทย ทั้งในวิทยาลัยนาฏศิลปและในโรงเรียนเขตภาคเหนือ
References
ธีรยุทธ ยวงศรี. (2540). การดนตรี การขับ การฟ้อนล้านนา. เชียงใหม่: สุริวงศ์บุ๊คเซนเตอร์.
ปรเมศวร์ สรรพศรี. (2555). เจ้าสุนทร ณ เชียงใหม่ การสืบทอดภูมิปัญญาการสร้างสะล้อและซึง. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต. วัฒนธรรมและการพัฒนา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล.
พูนพิศ อมาตยกุล. (2530). เอื้องเงิน ที่ระลึกในงานบรรจุอัฐิเจ้าสุนทร ณ เชียงใหม่. กรุงเทพมหานคร: รักษ์สิปป์