แนวทางการพัฒนาการมีส่วนร่วมของประชาชน และองค์การบริหารส่วนตำบลโพนงาม ในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวหนองทุ่งยั้ง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี

Main Article Content

นวคม เสมา
บุษกร สุขแสน

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพื่อศึกษาสภาพและปัญหาการมีส่วนร่วมของประชาชนและองค์การบริหารส่วนตำบลโพนงามในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวหนองทุ่งยั้ง 2) เพื่อกำหนดแนวทางการพัฒนาการมีส่วนร่วมของประชาชนและองค์การบริหารส่วนตำบลโพนงามในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวหนองทุ่งยั้ง 3) เพื่อประเมินแนวทางการพัฒนาการมีส่วนร่วมของประชาชนและองค์การบริหารส่วนตำบลโพนงามในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวหนองทุ่งยั้ง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี งานวิจัยนี้ใช้วิธีวิจัยแบบผสม (Mixed Method) แบ่งการดําเนินงานวิจัยเป็น 3 ระยะได้แก่ ระยะที่ 1 ศึกษาสภาพและปัญหาการมีส่วนร่วมของประชาชนและองค์การบริหารส่วนตำบลโพนงาม ในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวหนองทุ่งยั้ง เป็นวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) กลุ่มประชากรตัวอย่างได้แก่ ประชาชนจาก 6 หมู่บ้าน ของตำบลโพนงาม ใช้แบบสอบถามเก็บรวบรวมข้อมูลวิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติค่าความถี่ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ระยะที่ 2 กำหนดแนวทางการพัฒนาการมีส่วนร่วมของประชาชน และองค์การบริหารส่วนตำบลโพนงาม ในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวหนองทุ่งยั้ง โดยใช้วิธีวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) กลุ่มเป้าหมายประกอบด้วย ผู้บริหารองค์การบริหารท้องถิ่น ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้นำหมู่บ้าน สมาชิกสภาท้องถิ่น ปราชญ์ชาวบ้าน ผู้นำองค์กรชุมชน และเจ้าหน้าที่ของรัฐ รวม 30 คน เครื่องมือที่ใช้วิจัยคือ การจัดสนทนากลุ่ม จดบันทึกจากการสนทนากลุ่ม วิเคราะห์ข้อมูลโดย การวิเคราะห์เนื้อหา(Content Analysis) ระยะที่ 3 ประเมินแนวทางการพัฒนาการมีส่วนร่วมของประชาชน และองค์การบริหารส่วนตำบลโพนงาม ในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวหนองทุ่งยั้ง โดยประเมินความเป็นไปได้ และความเหมาะสม ของแนวทางการพัฒนาการมีส่วนร่วมของประชาชนและองค์การบริหารส่วนตำบล ในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวหนองทุ่งยั้ง ใช้วิธีการวิจัยเชิงปริมาณ มีกลุ่มประชากร เป็นผู้ทรงคุณวุฒิและนักวิชาการ เครื่องมือที่ใช้ในการประเมิน เป็นแบบประเมินมาตราส่วนประเมินค่า (Rating Scale) 5 ระดับ

ผลการวิจัยพบว่า
1. สภาพการมีส่วนร่วม ในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวหนองทุ่งยั้ง พบว่า 1) ด้านการวางแผน และ ด้านการปฏิบัติ อยู่ในระดับปานกลาง 2) ด้านการรับผลประโยชน์, ด้านการตรวจสอบ และ ด้านการประเมินผล อยู่ในระดับน้อย ปัญหาของการมีส่วนร่วม พบว่า ด้านการวางแผน, ด้านการปฏิบัติ, ด้านการรับผลประโยชน์, ด้านการตรวจสอบ และด้านการประเมินผล อยู่ในระดับน้อย


2. แนวทางการพัฒนาการมีส่วนร่วมของประชาชนและองค์การบริหารส่วนตำบลโพนงามในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวหนองทุ่งยั้ง ได้แก่ 1) ด้านการรับผลประโยชน์ คือ การส่งเสริมการมีส่วนร่วมให้ประชาชนมีรายได้ และให้ประชาชนได้รับการประกาศเกียรติคุณ ยกย่องสรรเสริญ จากการพัฒนา ให้ประชาชนมีส่วนร่วมให้มากที่สุด กิจกรรมส่งเสริมให้ประชาชนมีรายได้ เช่น ส่งเสริมกิจกรรมกระต๊อบตกปลา เป็นต้น ส่วนกิจกรรมให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมและได้รับ ประกาศเกียรติคุณ เช่น โครงการอนุรักษ์พันธุ์ปลา เป็นต้น 2) ด้านการวางแผน คือ จัดการประชุมประชาคม หรือ อบรมสัมมนาให้ประชาชนมีส่วนร่วม เพื่อ กำหนดแผนการพัฒนา 3) ด้านการประเมินผล คือ การจัดเวทีอบรมเรื่องการประเมินผลที่ถูกต้อง ให้ประชาชนในพื้นที่ได้มีส่วนร่วมประเมินทั้งในที่ประชุมและนอกห้องประชุม และ 4) ด้านการตรวจสอบ คือ การจัดเวทีอบรม ให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ได้เรียนรู้วิธีการ การตรวจสอบ อย่างถูกต้องและเป็นธรรม


3. ผลการประเมินแนวทางการพัฒนาความร่วมมือของประชาชนและองค์การบริหารส่วนตำบลโพนงาม ในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวหนองทุ่งยั้ง พบว่า ระดับการประเมิน ทั้งความเป็นไปได้ และความเหมาะสม อยู่ใน ระดับมาก สามารถนำสู่การจัดทำแผนพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวหนองทุ่งยั้ง ตำบลโพนงาม ผ่านเวทีประชาคม เพื่อบรรจุเป็นแผนชุมชน แผนพัฒนาประจำปีองค์การบริหารส่วนตำบลโพนงาม อำเภอหนองหาน ต่อไป

Downloads

Download data is not yet available.

Article Details

บท
บทความวิจัย