Editorial Note

Main Article Content

Siriporn Somboonboorana

Abstract

วารสารสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ปีที่ 12 ฉบับที่ 2 เดือนกรกฎาคม – ธันวาคม 2562 ฉบับ ความท้าทายการกำหนดนโยบายและการนำนโยบายไปปฏิบัติในสังคมไทย (The Challenges in Policy Formulation and Implementation in Thai Society)


          โครงสร้างทางสังคมจำเป็นต้องระเบียบกฎเกณฑ์เพื่อถูกควบคุมและจัดระเบียบผู้คนจำนวนมาก หากเราย้อนไปในสังคมเล็ก ๆ ครอบครัว สังคมชนเผ่า จะมีผู้นำมีหัวหน้าที่ควบคุมให้สมาชิกในครอบครัวหรือสังคมของตนเองได้ประพฤติปฏิบัติในกรอบที่ตนได้วางไว้ หรือมีออกกฎระเบียบ กฎเกณฑ์ต่าง ๆ ให้สมาชิกได้ปฏิบัติได้ ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ของกลุ่ม ของครอบครัวและสังคมของตนเอง


          แต่เมื่อสังคมได้ขยายใหญ่ขึ้น ผู้คนมากมากหลายหลายมีความซับซ้อนซ่อนเงื่อนมากขึ้น กลายเป็นรัฐกลายเป็นประเทศ ผู้นำในสังคมมีมากขึ้น หลากหลายขึ้น แย่งชิงผลประโยชน์มากขึ้น รัฐจึงต้องเข้ามาจัดการจนกลายเป็นกฎหมายหลัก และสร้างนโยบายต่าง ๆ เข้ามาควบคุมและวางแผนผู้คนภายใต้รัฐนั้น ๆ ดังนั้นจึงทำให้เกิดนโยบายต่าง ๆ ในแต่ละด้าน เพื่อแก้ปัญหาสังคม เมื่อนโยบายถูกนำไปปฏิบัติสะท้อนให้เห็นถึงใครจะเป็นผู้ได้ประโยชน์ และเสียประโยชน์จากนโยบายของรัฐ หรือรัฐจะหาวิธีการประสานประโยชน์กับกลุ่มต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องได้อย่างไร เพื่อให้นโยบายที่ร่างขึ้นมาดำเนินการต่อไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ความสำเร็จหรือล้มเหลวในการนำนโยบายไปปฏิบัติขึ้นอยู่กับ เนื้อหาของนโยบาย นั่นหมายถึงว่า ใครเป็นผู้กำหนด หรือหน่วยงานใดเป็นผู้รับผิดชอบ เพราะความพร้อมของแต่ละหน่วยงานมีความพร้อมแตกต่างกัน บางหน่วยได้รับการสนับสนุนจากนักการเมือง เป็นต้น ส่วนอีกปัจจัยหนึ่งคือด้านสภาพแวดล้อมหรือบริบททางการเมือง การถูกแทรกแซงหรือการใช้อิทธิพลทั้งในระดับส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่น ส่งผลต่อผู้นำไปปฏิบัติต้องเกิดการต่อรองกับกลุ่มต่าง ๆ หรือเกิดการเบี่ยงเบนในการนำไปใช้ จึงทำให้นโยบายและการนำนโยบายไปปฏิบัตินั้นเกิดความท้าทายว่าใครได้รับผลประโยชน์หรือใครเป็นผู้เสียผลประโยชน์ ซึ่งมีความซับซ้อนอย่างยิ่งในระดับผู้ปฏิบัติและผู้กำหนดนโยบาย


          ดังนั้นในปัจจุบันนี้ที่เราเห็นก็ไม่ต่างจากการนำนโยบายต่าง ๆ มากำหนดให้ผู้คนปฏิบัติตามการไขลานของผู้กำหนดนโยบายและผู้ที่นำนโยบายมาปฏิบัติ ตามความคิดหรือการตีความที่เข้าข้างตนเอง ส่วนประชาชนส่วนใหญ่ก็เป็นเสมือน “หุ่นที่ถูกไขลาน” ให้เป็นไปตามวิถีที่กำหนดและตีความของผู้มีอำนาจทุกระดับ


วารสารฉบับนี้จึงได้รวบรวมบทความที่หลากหลาก และสะท้อนการนำนโยบายไปปฏิบัติในรูปแบบต่าง ๆ ในระดับต่าง ๆ ของสังคม สะท้อนให้เห็นความไม่สัมพันธ์กันของผู้กำหนดนโยบาย ผู้นำนโยบายไปปฏิบัติ ผู้แปลงสาร และผู้ถูกปฏิบัติ รวมถึงความท้าทายว่าใครได้รับผลประโยชน์หรือใครเป็นผู้เสียผลประโยชน์และใครมีอำนาจในการต่อรองมากกว่ากัน วารสารสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ฉบับ ความท้าทายการกำหนดนโยบายและการนำนโยบายไปปฏิบัติในสังคมไทย ได้คัดเลือกบทความจำนวน 10 บทความ ดังนี้ สำหรับบทความหลักที่น่าสนใจคือ บทความแรก การศึกษาวิเคราะห์การทุจริตคอร์รัปชันขบวนการเครือข่ายนายหน้าข้ามชาติในอุตสาหกรรมประมงต่อเนื่องของประเทศไทย กรณีบริษัทจัดหางานตามระบบการจ้างงานแบบรัฐต่อรัฐ (MOU) ศิริมา ทองสว่าง และสุรศักดิ์ มีบัว กล่าวถึง มาตราการการบริหารจัดการทำงานของคนต่างด้าว “ระบบการจ้างงานแบบรัฐต่อรัฐ” แต่คำถามที่น่าสนใจคือ ทำไม่ถึงเกิดสถานการณ์การทุจริตได้และผลประโยชน์มหาศาลนี้ใครได้-ใครเสียประโยชน์ โดยเฉพาะในธุรกิจอุตสาหกรรมประมงต่อเนื่องในไทย บทความที่สอง กระบวนการและการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจจากการทำประมงพาณิชย์จังหวัดสตูล พ.ศ. 2530 – 2547 เอมวิการ์ อินทรคช ได้ศึกษาบทบาทความสัมพันธ์ของธุรกิจแพปลา ประมงพาณิชย์ที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจของจังหวัดสตูล ซึ่งแน่นอนว่า นโยบายและมาตรการต่าง ๆ ด้านเศรษฐกิจส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของประมงพื้นบ้านสู่ประมงพาณิชญ บทความที่สาม พัฒนาการนโยบายต่างประเทศตุรกีกับความสัมพันธ์ต่อภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ ช่วงปีค.ศ 1923– ค.ศ 2017 ดร.ยาสมิน ซัตตาร์ เป็นบทความที่สะท้อนนโยบายการต่างประเทศของตุรกีที่มีต่อประเทศในอาเซียน อันกลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่ใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างตัวตนของตุรกิในเวทีโลกต่อไป บทความที่สี่ การพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้พิการบนพื้นฐานปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในกลุ่มวิสาหกิจชุมชนยะลาไบโอดีเซล ตำบลลำใหม่ อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา วันชัย ธรรมสัจการ สุเมธ พรหมอินทร์ และ ยุทธกาน ดิสกุล การนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในกลุ่มผู้พิการ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้พิการผ่านดัชนีคุณภาพชีวิต 11 ด้านของคนไทย บทความที่ห้า รูปแบบส่งเสริมการเรียนรู้ความเป็นพลเมืองตามระบอบประชาธิปไตยแบบบูรณาการหลักสัปปุริสธรรม 7 สำหรับนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น ปัณณพงศ์ วงศ์ณาศรี รงค์ บุญสวยขวัญ และ นันธิดา จันทร์ศิริ บทความนี้นำเสนอการสร้างเครื่องมือส่งเสริมการเรียนรู้ความเป็นพลเมืองตามระบอบประชาธิปไตย แม้จะมีคำถามว่า “พลเมือง” และ “ประชาธิปไตย” ในสังคมปัจจุบันเป็นต้นแบบได้อย่างไร?


บทความที่หก การพัฒนาวิชาชีพครูสอนภาษาจีนในประเทศไทยตามกรอบมาตรฐานครูสอนภาษาจีนระดับสากลของฮั่นปั้น นำโชค  บุตรน้ำเพ็ชร นำเสนอแนวทางการพัฒนาวิชาชีพครูสอนภาษาจีนให้เป็นไปตามกรอบมาตราฐานครูสอนภาษาจีนระดับสากลของฮั่นปั้น การนำมาตรฐานและกรอบนโยบายจีนมาใช้กับ “ครู”ในประเทศไทย บทความที่เจ็ด ปัจจัยความสุขของนักศึกษาสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กษิญา เก้าเอี้ยน ศึกษาความสุขของนักศึกษาสถาปัตยกรรมศาสตร์และการหาแนวทางในการดูแล ช่วยเหลือและสนับสนุนให้นักศึกษาได้เรียนรู้อย่างมีความสุข เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการเรียนรู้และนโยบายมหาวิทยาลัย ที่ต้องการผลิตบัณฑิตให้ “เก่ง ดี และมีความสุข” บทความที่แปด Factors Affecting Malay Muslim Youth Life Skills Development in Islamic Private School  Direak  Manmanah, Awang  Lanui and Muhummudrapee Makeng เป็นบทความที่ต้องการนำเสนอการพัฒนาทักษะชีวิตนักเรียนมาเลย์สมุสลิมในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในจังหวัดปัตตานี ทั้งนี้ปัจจัยสำคัญหนึ่งคือ ทางโรงเรียนควรจะส่งเสริมให้นักเรียนได้ยอมรับและนำประโยชน์จากการเรียนศาสนามาใช้ในชีวิตประจำวันทั้งในโรงเรียน ครอบครัว ชุมชนและสังคมของเขา ซึ่งถือว่าโรงเรียนเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนและพัฒนาสมรรถนะของชีวิตวัยรุ่นมุสลิมที่จะทำให้พวกเขาสามารถผ่านพ้นข้อจำกัดและปัญหาต่างๆ ได้เป็นอย่างดี บทความที่เก้า ปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จในการพัฒนาชุมชนต้นแบบพื้นที่สุขภาวะ เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร อนัญพร อิ่งจงใจรักษ์ สุรสิทธิ์ วชิรขจรและดุจเดือน พันธุนาวิน บทความนี้นำเสนอการดำเนินงาน ความสำเร็จในการพัฒนาชุมชนต้นแบบ พบว่าปัจจัยที่สำคัญคือความรู้ ภาวะผู้นำและทัศนคติของผู้เข้าร่วมกิจกรรมการพัฒนาชุมชนต้นแบบพื้นที่สุขภาวะ และบทความสุดท้าย แรงจูงใจและประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของข้าราชการตำรวจสำนักงานจเรตำรวจ จันทรกานต์  พรหมเหมือน สมนึก เอื้อจิระพงษ์พันธ์ จินตนีย์ รู้ซื่อและ  ขนิษฐา พัฒนสิงห์ นำเสนอการปฏิบัติงานของข้าราชการตำรวจ สำนักงานจเรตำรวจจะสามารถปฏิบัติการได้อย่างมีประสิทธิภาพได้นั้นจำเป็นต้องอาศัยแรงจูงใจ ด้านค่าใช้จ่างในการดำเนินงาน ปัจจัยส่วนบุคคล ด้านความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน และด้านความสำเร็จ


บทความทั้งสิบเรื่องนี้ มีความหลากหลายเหมือนปรุงอาหารประเภท “ยำ” ที่นำเครื่องปรุงที่แตกต่างกันมาคลุกเคล้ารวมกัน แต่จุดร่วมกันคือ รสชาติของน้ำยำต้อง “เปรี้ยว”นำ นั่นหมายถึงจุดร่วมของทุกบทความคือ การนำนโยบายหรือมาตรการมาประยุกต์ใช้ การถูกนำมาใช้ในภาคส่วนต่างๆ ของสังคม จึงเกิดความท้าทายของการกำหนดนโยบายและการนำนโยบายไปปฏิบัติในสังคมไทย การมาปรุงรสชาติอาหารประเภทยำ จึงไม่ง่ายนักที่จะถูกใจถูกปากของทุกคนเสมอไป เฉกเช่นวารสารฉบับนี้การชิมรสหรืออรรถรสของแต่ละเรื่องแต่ละบทความ ท่ามกลางความหลากหลายของผู้เขียน ความหลากหลายของผู้อ่านและความหลากหลายของการเสพอันจะนำไปสู่การยอมรับความแตกต่างบนหน้ากระดาษของวารสาร

Article Details

How to Cite
Somboonboorana, S. (2019). Editorial Note. Asia Social Issues, 12(2), i-iii. Retrieved from https://so06.tci-thaijo.org/index.php/asi/article/view/231921
Section
Editorial Note