Editorial Note

Main Article Content

Editorial Note

Abstract

ในช่วงภาวะของการออกวารสารสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ฉบับ สังคม สุขภาพและพรมแดนเป็นสภาวะที่ทุกคนในสังคมทุกระดับของโลกอยู่ในภาวะที่ตึงเครียด หวาดกลัว หวาดระแวง เศร้าด้วยกระแสของโรคที่เกิดจากไวรัสโคโรน่าหรือ โควิด19 ทำให้ผู้คนในสังคมต่างไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน เกิดการกล่าวโทษกัน แต่ก็ยังเกิดความมีน้ำใจช่วยเหลือเกื้อกูลกันเกิดขึ้นในสถานการณ์ของความยากลำบากเหล่านี้ ที่ส่งความช่วยเหลือในรูปแบบต่างๆ สืบเนื่องจากสถานการณ์นี้เองทำให้เกิดพฤติกรรมใหม่ที่เรียกว่า “ชีวิตวิถีปกติใหม่” (New Normal) เช่น การทำงานที่บ้าน (Work From Home) การสร้างระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) การใช้ชีวิตกับวิถีออนไลน์ ไม่ว่าจะเรียนออนไลน์ ทำงานออนไลน์ ซื้อของออนไลน์มากขึ้น เป็นต้น รวมถึงปัจจัยสำคัญที่ต้องพกติดตัวตลอดเวลา เช่น หน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ เป็นต้น ปรากฏการณ์เหล่านี้ส่งผลให้เกิดความสมดุลใหม่ ควบคู่ไปกับความเหลื่อมล้ำที่มีมากขึ้นในสังคม
สำหรับวารสารสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ฉบับนี้ ได้สะท้อนภาพของสังคมที่หลากหลาย ต่างชาติพันธุ์ ต่างศาสนาที่อยู่ท่ามกลางความเสี่ยง ความขัดแย้ง และความไม่เข้าใจ จึงพยายามหาจุดร่วมของการสร้างนโยบาย หรือมาตรการด้านต่างๆ ให้เกิดขึ้นเพื่อขจัดหรือบรรเทาปัญหาเหล่านั้น อาทิ สุขอนามัย การรักษาพยาบาล การอยู่ร่วมกันของผู้คนที่หลากหลาย เป็นต้น จึงเป็นโอกาสดีที่วารสารได้รวบรวมบทความที่น่าสนใจ และเป็นประเด็นร้อนอย่าง บทความแรก การแพร่ระบาดไวรัสโคโรน่ากับมาตรการสุขอนามัยทางกฎหมายระหว่างประเทศ ศิวรุฒ ลายคราม และ ผูกนภา พละเดช ซึ่งกล่าวถึง การตรวจสอบหลักการทางกฎหมายไทยและกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า เพื่อแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าข้ามพรมแดนที่ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ สังคมการลงทุน และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว อีกทั้งมาตรการทางกฎหมายภายในและกฎหมายระหว่างประเทศถูนำมาเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ใช้เพื่อควบคุมการแพร่กระจายของไวรัสโคโรน่า
บทความที่สอง การเคลื่อนย้ายข้ามแดนของผู้ใช้บริการสุขภาพจากพม่าและลาวเพื่อเข้าถึงบริการทางการแพทย์ในพื้นที่ชายแดนจังหวัดเชียงราย กรวรรณ บัวดอกตูม กล่าวถึง การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางด้านการคมนาคมคือเงื่อนไขเชิงโครงสร้างสำคัญที่ส่งผลให้เกิดการก่อตัวและการพัฒนาของพื้นที่ทางการแพทย์ นโยบายของรัฐ การกำกับควบคุมการเดินทางข้ามพรมแดน และกระบวนการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางข้ามแดนของชาวลาวและชาวพม่า นำไปสู่การขยายตัวของธุรกิจบริการสุขภาพและวัฒนธรรมการเดินทางเคลื่อนย้ายข้ามแดนเพื่อใช้บริการสุขภาพในพื้นที่อาณาบริเวณชายแดนลุ่มน้ำโขงตอนบน (ไทย เมียนมาลาว)
บทความที่สาม ความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ศาสนา และชุมชนการค้า ณ เมืองชายแดนโมเรฮ์ รัฐมณีปุระอภิรัฐ คำวัง กล่าวถึง เมืองชายแดนของรัฐมณีปุระ อินเดีย “เมืองโมเรฮ์” ที่เชื่อมต่อเมียนมาและเป็น “ประตูสู่อาเซียน” ของอินเดีย มีกลุ่มชาติพันธุที่หลากหลายได้ตั้งถิ่นฐานบริเวณชายแดนและพัฒนาการค้าข้ามแดนนานกึ่งศตวรรษ พบว่าพื้นที่ใจกลางชายแดนกลายเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม และมีบทบาทเป็นชุมทางสินค้า ปรับตัวตามความประสงค์และรสนิยมของลูกค้า จนเกิดเป็นพลวัตที่น่าสนใจทางการค้า กลุ่มคนภายใต้กิจกรรมทางเศรษฐกิจร่วมกันพัฒนาการค้าไปตามยุค และรัฐบาลอินเดียพยายามจะขับเคลื่อนโดยจัดระบบชายแดนให้ก้าวหน้า
บทความที่สี่ สังคมเปราะบาง: ความสัมพันธ์ระหว่างชาวพุทธและชาวมุสลิมในสังคมไทยระหว่างปี 2561-2562 เอกรินทร์ ต่วนศิริ และ อันวาร์ กอมะ สะท้อนภาพในช่วงกว่าหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ระหว่างชาวพุทธและมุสลิมโดยรวมเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่น่าเป็นห่วง มีการขยายตัวของปัญหาความรุนแรงมากขึ้นไม่เฉพาะภาคใต้ตอนล่างเท่านั้น แต่รวมถึงภาคใต้ตอนบน ภาคเหนือ และภาคอีสานอีกด้วย เกิดการต่อต้านสัญลักษณะของความเป็นมุสลิม ขณะเดียวกันก็มีการเรียกร้องการแสดงอัตลักษณะความเป็นมุสลิมเพิ่มขึ้น การเปลี่ยนทิศทางของความขัดแย้งข้างต้นทําให้สังคมพุทธและมุสลิมมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังต้องการนโยบายสาธารณะที่สามารถป้องกันความรุนแรงจากความสุดโต่งอีกด้วย
บทความที่ห้า ต้นทุนกิจกรรมการรักษาโรคมะเร็งตับในโรงพยาบาลของรัฐ กรณีศึกษาโรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี สุชาวดี มีชัย สมนึก เอื้อจิระพงษ์พันธ์ และวชรวรรษ พรหมมา ได้ศึกษาและวิเคราะห์ต้นทุนกิจกรรมการรักษาโรคมะเร็งตับ ของโรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี และเปรียบเทียบต้นทุนกิจกรรมการรักษาโรคมะเร็งตับ กับเงินชดเชยที่ได้รับจากสํานักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ บทความที่หก “นิตยสารเชิงชาย” จุดกำเนิดของการบริโภคภาพความเป็นชายของเกย์ไทย นฤพนธ์ ด้วงวิเศษได้ศึกษาบทบาทของสื่อโป๊เปลือยของเกย์ที่สังคมมองว่าเป็น “สื่อลามก” โดยมองว่าเรือนร่างของนายแบบที่ถูกทําให้เป็นความเย้ายวนทางเพศไม่เพียงแต่ช่วยตอบสนองความต้องการของเกย์ แต่นิตยสารเชิงชายยังเป็นภาพสะท้อนของวัฒนธรรมบริโภคที่ช่วยสร้างประสบการณ์และกระบวนการเรียนรู้ตัวตนและความรู้สึกทางเพศให้กับชายรักชายในสังคมไทยซึ่งพวกเขาถูกปิดกั้นและไม่ได้รับการยอมรับในพื้นที่สาธารณะ
บทความที่เจ็ด พฤติกรรมการเล่นการพนันออนไลน์ของนักศึกษาคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ กัลญาลักษณ์ ชูอิฐ ธนพล บัวสุวรรณ นัยนิต วงปิ่น และวิกรานต์ เผือกมงคล พบว่า ลักษณะของครอบครัวที่สอนสมาชิกด้วยข้อมูลจากข่าวและยกตัวอย่างถึงผลลัพธ์ของบุคคลที่เล่นการพนัน ส่งผลต่อการเข้าถึงการเล่นพนันออนไลน์ของนักศึกษามากที่สุด ทำให้นักศึกษาไม่เล่นการพนันออนไลน์ ความสัมพันธ์ระหว่างลักษณะครอบครัวและพฤติกรรมการเล่นพนันออนไลน์ของนักศึกษามีระดับความสัมพันธ์ในระดับปานกลาง บทความที่แปด ปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจปฏิบัติตามแนวทางเกษตรที่ดีและเหมาะสมของเกษตรกรอำเภอสามโก้ จังหวัดอ่างทอง สุปราณี มีสง่า นิรันดร์ ยิ่งยวด และจุฑาทิพย์ ถาวรรัตน์ ศึกษาระดับการตัดสินใจปฏิบัติตามแนวทางเกษตรที่ดีและเหมาะสม และศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจปฏิบัติตามแนวทางเกษตรที่ดีและเหมาะสมของเกษตรกร อําเภอสามโก้ จังหวัดอ่างทอง กลุ่มตัวอย่างคือ เกษตรกร
บทความที่สิบปรากฏการณ์ทางภาษาไทยและภาษาจีนในการสื่อสารทางธุรกิจออนไลน์ตามหลักความร่วมมือ ศิริคุณ พันธ์รังษีได้สำรวจแนวโน้มการใช้ภาษาด้านการสื่อสารธุรกิจออนไลน์ ระหว่างภาษาไทยและจีน เพื่อศึกษาปรากฎการณ์การใช้ภาษาออนไลน์ภาษาไทย -ภาษาจีน และสะท้อนการใช้ภาษาไทย –จีน ในธุรกิจออนไลน์
และปิดท้ายด้วยบทปริทัศน์หนังสือเรื่อง “Rise of the Indo-Pacific: Perspectives, Dimensions and Challenges” อาดีลัน อุสมา ได้อ่านหนังสือนี้และบอกเล่าถึงเรื่องราวที่ปรากฏในหนังสือที่เกี่ยวข้องกับการอธิบายพลวัตรความเปลี่ยนแปลงของภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกอย่างเป็นปัจจุบันและเข้มข้นมากที่สุดเล่มหนึ่งจากวงการวิชาการด้านวิเทศศึกษา (International studies) ของอินเดีย ทำให้เกิดความน่าสนใจและติดตามต่อของงานชิ้นนี้
วารสารจึงทำหน้าที่ของสื่อกลางที่ถ่ายทอดบทความเนื้อหา เนื้อเรื่องที่น่าสนใจ แม้ว่าจะเป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งที่มีโอกาสได้สะท้อนสังคม และการลิ้มรสความหอมหวานของความรู้จะเชิญชวนและเชื้อเชิญให้เราเข้าไปอยู่ในภวังค์และโลกของอักษรในมุมมองของแต่ละท่านที่ได้อ่านและติดตาม



ด้วยความนับถือและขอบคุณจากใจ
บรรณาธิการ

Article Details

How to Cite
Editorial Note. (2020). Editorial Note. Asia Social Issues, 13(1), i-iv. Retrieved from https://so06.tci-thaijo.org/index.php/asi/article/view/243101
Section
Editorial Note

References

-