Editorial Note

Main Article Content

Walailak Journal of Social Science

Abstract

Things can change in a day”


Arundhati Roy, the God of Small Things (1997)


ขอส่งท้ายปีเก่า 2563 (2020) ด้วยคำกล่าวของรอย นักเขียนสตรีชาวอินเดียที่กล่าวไว้ว่า “สิ่งต่างๆ สามารถเปลี่ยนแปลงได้ในหนึ่งวัน” วารสารสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (Walailak Journal of Social Science) ปีที่ 13 ฉบับที่ 2 เดือนกรกฎาคม- ธันวาคม 2563 ฉบับ Homeless, Gender and Indigenous People in Southeast Asia เป็นเล่มทิ้งทวนภาษาไทย ทำให้บทความในฉบับนี้จึงคละกันทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทย เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงวารสารให้สอดคล้องกับความเป็นสากล ยกระดับบทความและวารสารเป็นนานาชาติ เพื่อให้บทความได้รับการเผยแพร่และอ้างอิงในระดับสากลมากขึ้น สำหรับปีที่ 14 วารสารสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์จะเผยแพร่บทความภาษาอังกฤษ และเผยแพร่ปีละ 6 เล่ม เพื่อรองรับบทความที่มีคุณภาพด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ และทันสมัย


สำหรับวารสารฉบับนี้ เป็นฉบับ Homeless, Gender and Indigenous People in Southeast Asia ที่รวบรวมบทความวิจัย บทความวิชาการและแนะนำหนังสือจำนวน 10 เรื่อง ประกอบด้วยบทความภาษาอังกฤษ 4 เรื่องและบทความภาษาไทย 6 เรื่อง ดังนี้


บทความวิจัยแรกเป็นบทความเรื่อง “Gender Struggle: What Can We Learn form the Dayak Benawan Women” เขียนโดย Nikodemus Niko กล่าวถึง ความไม่เท่าเทียมกันทางเพศต่อสตรีพื้นเมืองของ Dayaks Benawan ในกาลิมันตันตะวันตกประเทศอินโดนีเซีย เนื่องด้วยโครงสร้างทางสังคมและระบบชายเป็นใหญ่ทำให้ส่งผลกระทบเชิงนโยบายต่อโครงสร้างของการแบ่งงานตามเพศที่ไม่เป็นธรรม การออกกฎหมายตามประเพณีท้องถิ่นบ่งบอกถึงจุดยืนของผู้หญิงในทางการเมืองที่อ่อนแอลง นอกจากนี้การเผยแพร่วัฒนธรรมของปิตาธิปไตยในชุมชน Dayak Benawan ทำให้ผู้หญิงไม่เคยมีส่วนร่วมในนโยบายต่าง ๆ ของชุมชน


บทความที่สอง เรื่อง “The Prevalence of Psychiatric Disorders and Limitation of healthcare Utilization among the Homeless Residing in Shelters in Bangkok” โดย Krittapas Thienwawatnukul, Krittapas Thienwiwatnukul, Thienchai Ngamthipwatthana, and Sucheera Phattharayuttawat เป็นบทความวิจัยที่ต้องการตรวจสอบความชุกของโรคทางจิตเวชและข้อจำกัดในการใช้ประโยชน์ด้านการดูแลสุขภาพของคนไร้บ้านในสถานสงเคราะห์ในกรุงเทพมหานคร ซึ่งผู้วิจัยได้ศึกษากลุ่มคนไร้บ้านจำนวน 116 คนพบว่าครึ่งหนึ่งของผู้เข้าร่วมยอมรับว่า สาเหตุหลายประการที่ทำให้พวกเขาไม่สามารถใช้บริการด้านการรักษาพยาบาล: 1) ปัญหาของค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาลและความคุ้มครองด้านสุขภาพ 2) ปัญหาการขนส่งและค่าธรรมเนียมการเดินทางไปยังบริการ; 3) คุณภาพของบริการหรือความรู้สึกของการได้รับการดูแลที่ต่ำกว่ามาตรฐาน และ 4) ความไม่เต็มใจที่จะให้บริการระหว่างผู้ให้บริการด้านสุขภาพ สรุปได้ว่าอัตราความชุกของโรคทางจิตเวชในกลุ่มคนจรจัดมีมากกว่าประชากรทั่วไป จำเป็นต้องมีการปรับปรุงด้านการดูแลสุขภาพอย่างเร่งด่วนตลอดจนความพร้อมด้านสุขภาพจิตและการเข้าถึงสำหรับคนกลุ่มนี้


บทความที่สาม เรื่อง “ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อสัมพันธบทของภาพยนตร์อินโดนีเซียช่วงทศวรรษ 1980-2010” โดย ณัฐสุดา รัตนบุรี บทความนี้ศึกษาปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อสัมพันธบทของภาพยนตร์อินโดนีเซีย ช่วงทศวรรษ 1980-2010 ซึ่งศึกษาผ่านการทบทวนเนื้อเรื่องและประเด็นที่นำเสนอในภาพยนตร์ 3 เรื่อง คือ เรื่อง “มหากาพย์แห่งรัก” (Ayat-Ayat Cinta) “ผู้หญิงสวมสร้อยโสรบัน” (Perempuan Berkalung Sorban) และ “พลังรักพลังศรัทธา” (Ketika Cinta Bertasbih) ในแง่ของบริบทการเมืองการปกครองของในแต่ละยุคเพื่อนำมาวิเคราะห์เชื่อมโยงกับภาพยนตร์แนวทางศาสนาอิสลามที่ก่อตัวขึ้นในอินโดนีเซียโดยเน้นศึกษาตัวภาพยนตร์ที่เป็นองค์ประธานในการสะท้อนยุครุ่งเรืองของประวัติศาสตร์อิสลามในอินโดนีเซีย และเงื่อนไขในการก่อตัวของภาพยนตร์แนวทางศาสนาอิสลามที่ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นในยุคปฏิรูป (Reformasi) หลังการล่มสลายของยุคระเบียบใหม่ (Orde Baru) ปัจจัยการก่อเกิดสัมพันธบทของภาพยนตร์ในอินโดนีเซียทศวรรษ 1980-2010 นั้นเป็นผลสืบเนื่องมาจากระบบของการเมืองการปกครองที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละยุคสมัยซึ่งถ่ายทอดผ่านสื่อภาพยนตร์ รวมทั้งปัจจัยทางด้านสังคมวัฒนธรรม ปัจจัยด้านค่านิยม ปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจ และปัจจัยการฟื้นฟูศาสนาอิสลาม แม้ว่าอินโดนีเซียจะเป็นประเทศที่มีประชากรมุสลิมที่มากที่สุดในโลก แต่ใช่ว่าในประวัติศาสตร์แห่งชาติจะให้คุณค่ากับความเป็นอิสลามมาตั้งแต่ต้น คุณค่าของศาสนาอิสลามในอินโดนีเซียนั้นมีลักษณะเฉพาะซึ่งแตกต่างจากที่อื่น อินโดนีเซียไม่ได้สร้างรัฐจากการนำศาสนามาเป็นพื้นฐาน แม้ว่าคนส่วนใหญ่จะเป็นมุสลิมก็ตาม ดังนั้นความเป็นอินโดนีเซียจึงไม่ใช่การเป็นอิสลาม การเป็นอิสลามถูกทำให้เป็นเครื่องมือเพื่อควบคุมประชาชนต่างหาก ฉะนั้นภาพยนตร์แนวทางอิสลามหลายเรื่องที่ปรากฏในอินโดนีเซียจึงเป็นการบรรจุเรื่องราวของศาสนาอิสลามเข้าไปในเนื้อหาของภาพยนตร์เพื่อให้เห็นภาพของการเดินเคียงคู่กันระหว่างชาติอินโดนีเซียและความเป็นอิสลาม


บทความที่สี่ เรื่อง “วิถีชีวิตและโลกทัศน์ของคนเก็บขยะ กรณีศึกษา จังหวัดอุบลราชธานี” โดย พรศิริ กาพย์แก้วสิน และปิ่นวดี ศรีสุพรรณ บทความนี้นำเสนอประสบการณ์การเก็บขยะของคนเก็บขยะและโลกทัศน์ของคนเก็บขยะ พบว่า คนเก็บขยะที่ประกอบอาชีพเก็บขยะขายมีวิถีชีวิตและประสบการณ์การเก็บขยะที่แตกต่างหลากหลาย สามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ตระเวนเก็บขยะเพื่อนำไปขายเพียงอย่างเดียว และตระเวนเก็บขยะและรับซื้อขยะด้วย กระบวนการกลายเป็นคนเก็บขยะเกิดจากหลายสาเหตุ ได้แก่ ไม่มีอาชีพ อยู่ในช่วงวัยเกษียณ ปัญหาสุขภาพ การย้ายถิ่นฐาน และการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ โดยแต่ละคนมีการปรับเปลี่ยนอาชีพและประสบกับการเปลี่ยนแปลงของจังหวะชีวิตที่แตกต่างกันไป การตัดสินใจเป็นคนเก็บขยะเต็มตัวและเลือกเก็บขยะเป็นอาชีพเสริมก็ต้องชั่งใจต่างกัน สำหรับกรณีศึกษามีมุมมองโลกทัศน์เกี่ยวกับการเก็บขยะที่แตกต่างกัน ซึ่งคนเก็บขยะส่วนหนึ่งมีมุมมองเชิงบวกต่ออาชีพของตนเอง แม้ว่าอาชีพเก็บขยะอาจจะดูเหมือนเป็นอาชีพชายขอบของสังคม แต่คนเก็บขยะไม่ได้มองว่าตนเองเป็นคนชายขอบเสมอไป โดยแต่ละคนมีโลกทัศน์ที่แตกต่างกัน กล่าวคือ หนึ่ง คนเก็บขยะคือคนที่ขยัน สอง ให้คุณค่าต่ออาชีพตนเอง และสาม การเก็บขยะเป็นอาชีพทางเลือกสุดท้าย


บทความที่ห้า เรื่อง “The Philosophy Went Wrong; Good Artists Copy, Great Artists Steal: An insight on Patent Issue in the Smartphone Industry” โดย Shashi Kr Shaw ศึกษาอุตสาหกรรมสมาร์ทโฟนที่มีผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นสูงในระยะสั้นบ่งบอกถึงความจริงที่ว่าในระยะยาวการเพิ่มผลตอบแทนตามมาตราส่วนที่ถือไว้ แต่กลยุทธ์ของสิทธิบัตรข้อจำกัด การเข้าถึงหรือเพื่อลดการแข่งขัน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือกลยุทธ์ของผู้เล่นที่โดดเด่นเพื่อลดผลประโยชน์จากการเพิ่มผลตอบแทนให้กับผู้เล่นใหม่และรักษาผลกำไรที่เหนือปกติไว้หรือไม่? แทนที่จะใช้วิธีการที่ยากลำบากในแต่ละกรณีของปัญหาสิทธิบัตรจุดประสงค์ของเราคือการพัฒนาเรื่องราวเกี่ยวกับปัญหาที่แท้จริงและยืนยันว่าสิทธิบัตรเป็นกลไกที่มีผลผูกพันและมีข้อ จำกัด จะไม่ถือเป็นกรณีของศิลปะก่อนหน้านี้


บทความที่หก เรื่อง “กึ่งศตวรรษองค์ความรู้สุภาษิตพระร่วง พ.ศ.2503-2556” โดย รัชฎาพร ตัณฑสิทธิ์ เป็นบทความนำเสนอการปริทัศน์องค์ความรู้สุภาษิตพระร่วง ในฐานะวรรณคดีคำสอนสมัยสุโขทัย ด้วยระเบียบวิธีวิจัยเอกสาร (documentary research) ใน 4 ประเด็น คือ ที่มาและประวัติผู้แต่งสุภาษิตพระร่วง สาระและคุณค่าผ่านคำสอน รูปแบบคำประพันธ์ และความสัมพันธ์ระหว่างสุภาษิต พระร่วงกับวรรณคดีเรื่องอื่น ๆ รวมทั้งภาพสะท้อนสังคม โดยวิเคราะห์ผ่านคำสอนที่ปรากฏ พบว่า สุภาษิตพระร่วงมีที่มาจากคำสอนของพระร่วงที่ทรงใช้สั่งสอนประชาชนในสมัยสุโขทัยมีลักษณะเป็นคำคล้องจอง เนื้อความเริ่มจากการบอกจุดมุ่งหมายการแต่ง ตามด้วยข้อความ สั่งสอนและลงท้ายด้วยการยกย่องผู้ยึดถือหลักปฏิบัติตามคำสอน โดยเนื้อหาที่ปรากฏในคำสอนจะเน้นการดำรงชีวิตในสังคมไทย 3 ด้าน คือ ด้านการศึกษา การปฏิบัติต่อบุคคลต่าง ๆ ตามชนชั้นทางสังคม และการประพฤติปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นวรรณคดีที่มีต้นฉบับวรรณกรรมจำนวน 6 สำนวน ประกอบด้วย ร่ายสุภาษิตพระร่วง 2 สำนวน ได้แก่ ฉบับวัดเกาะ และฉบับจารึกวัดพระเชตุพนฯ โคลงสุภาษิตพระร่วง สุภาษิตคำโคลง ร่ายสุภาสิตํ และกาพย์สุภาษิตพระร่วง


บทความที่เจ็ด เรื่อง “ผลกระทบของการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ต่อความมั่นคงทางอาชีพของเกษตรกรในชุมชน: ศึกษากรณีการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ส้มโอทับทิมสยามปากพนัง” โดยพิมลกร แปงฟู ทวีพร คงแก้ว ตารเกศ แดงงาม ฟารีดา หมัดเหล็ม และชฎารัตน์ ทองรุต พบว่า มีผลต่อความมั่นคงทางอาชีพของเกษตรกรในชุมชน แบ่งออกเป็น 3 ด้านหลัก คือด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเมื่อมีการใช้ตราสัญลักษณ์การขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ พบการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดในเรื่องการขยายช่องทางการตลาดของสินค้า ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นมากขึ้น  ด้านสังคม พบความเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกต่อกลุ่มเป้าหมายซึ่งเป็นผู้ริเริ่มการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ให้แก่ส้มโอทับทิมสยาม โดยได้รับการยอมรับจากสังคมและรู้สึกประสบความสำเร็จในอาชีพมากขึ้นในแง่ของการเป็นผู้ริเริ่ม  ส่วนด้านคุณภาพชีวิตนั้นมีผลกระทบเชิงบวกผันแปรกับผลกระทบทางเศรษฐกิจด้านรายได้ที่มีเพิ่มขึ้น


บทความที่แปด เรื่อง “Affecting the development storage and distribution. Case study OTOP Storage and Distribution center in Bangkok” โดย Putthiwat Singhdong บทความนำเสนอผลการวิจัยว่า ปัจจัยในการเลือกที่ตั้งศูนย์กระจายสินค้า OTOP ในกรุงเทพมหานครมีผลต่อการพัฒนาการจัดเก็บและการกระจาย ประกอบด้วยปัจจัย 5 ประการโดยสรุปได้ดังนี้ 1. ที่ตั้งคลังสินค้า 2 การจัดการความปลอดภัยของวัสดุ 3 การควบคุมสินค้าคงคลัง 4 ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับคำสั่งซื้อและ 5. ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนย้ายและกระจายสินค้าไปยังลูกค้า


บทความที่เก้า เรื่อง “การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมในการจัดการการท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์โดยชุมชนของกลุ่มชาติพันธุ์ไทยพวน อำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก” โดย ณัฏฐพัชร มณีโรจน์ และนาฏอนงค์ นามบุดดี บทความนี้แสดงถึงศักยภาพ และสำรวจทรัพยากรการท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์ และความต้องการของนักท่องเที่ยว พัฒนาผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยว รวมถึงการเสนอแนวทางการจัดการท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์โดยชุมชนของชาติพันธุ์ไทยพวน อำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก แนวทางการจัดการท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์เน้นกิจกรรมที่สามารถส่งผ่าน และส่งต่อประสบการณ์การท่องเที่ยวด้วยอาศัยทุนทุนทางภูมิปัญญา และทุนทางวัฒนธรรมของชาติพันธุ์ไทยพวนที่มีความแท้ แบบดั้งเดิมไปสู่นักท่องเที่ยวที่มาเยือน และจัดการท่องเที่ยวแบบมีส่วนร่วมของชุมชน ประกอบด้วย ร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมดำเนินการ ร่วมรับผิดชอบ และร่วมแบ่งปันผลประโยชน์ซึ่งชุมชนต้องมีการรวมตัวกันเป็นกลุ่ม เพื่อเป็นตัวแทนในการจัดการ ประสานงาน เพื่อให้การท่องเที่ยวเป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้


บทความสุดท้ายเป็นบทปริทัศน์หนังสือที่น่าสนใจเล่มหนึ่ง เรื่อง “The Righteous Life: Selected Writings and Lectures A. P. J. Abdul Kalam. (2014). The Righteous Life: Selected Writings and Lectures. New Delhi: Rupa” (ชีวิตแห่งศีลธรรม: งานเขียนและหลักคำสอนที่ถูกเลือก) โดย อับดุรเราะฮหมาน มูเก็ม ได้กล่าวถึงหนังสือเล่มนี้เป็นงานเขียนชิ้นนี้ถูกรวบรวมขึ้นท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญของอินเดีย นั่นก็คือขั้วการเมืองที่เปลี่ยนไป รวมทั้งการผงาดขึ้นอำนาจของพรรค BJP และการดิ่งลงของพรรคครองเกรสอินเดีย (INC) อย่างไรก็ตาม กาลามไม่ได้มีปัญหากับแวดล้อมทางการเมืองเหล่านั้น เพราะกาลามได้รับการยอมรับจากผู้นำทั้งสองฝ่ายอย่างปฏิเสธไม่ได้เมื่อครั้งถูกคัดเลือกเป็นประธานาธิบดีอินเดียในปี 2002


บทความทั้ง 9 เรื่องเป็นการรวบรวมเรื่องราวของงานวิจัยและนำเสนอได้อย่างน่าสนใจและหลากหลาย ภายใต้กรอบการทำงาน “Things can change in a day.”


สุดท้ายนี้ทางกองบรรณาธิการต้องขออภัยในความผิดพลาดที่เกิดขึ้น และจะพยายามพัฒนาวารสารฯ ให้ดีขึ้นต่อไป เพื่อเป็น “พื้นที่แห่งการเรียนรู้และการสร้างสรรค์” ผลงานวิชาการและวิจัยอย่างมีคุณภาพ รวมถึงการเป็น “สนามเผยแพร่ผลงาน” ให้แก่นักวิชาการและนักวิจัยต่อไป


 


 


บรรณาธิการ
ธันวาคม 2563

Article Details

How to Cite
Walailak Journal of Social Science. (2020). Editorial Note. Asia Social Issues, 13(2), i-vi. Retrieved from https://so06.tci-thaijo.org/index.php/asi/article/view/246708
Section
Editorial Note

References

-