การประกอบสร้างการก่อการร้ายในภาพยนตร์นานาชาติ

ผู้แต่ง

  • ฉลองรัฐ เฌอมาลย์ชลมารค วิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

คำสำคัญ:

การประกอบสร้าง, การก่อการร้าย, ภาพยนตร์

บทคัดย่อ

        การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ดังนี้คือ  1 เพื่อศึกษาถึงลักษณะการประกอบสร้างการก่อการร้ายในภาพยนตร์นานาชาติ 2 เพื่อศึกษาถึงปัจจัยที่มีผลต่อการประกอบสร้างการก่อการร้ายในภาพยนตร์นานาชาติ การดำเนินการวิจัยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ ประเภทการวิเคราะห์ตัวบท (Textual Analysis) สำหรับภาพยนตร์ที่นำมาศึกษาประกอบด้วยภาพยนตร์นานาชาติที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายจำนวน 10 เรื่อง โดยภาพยนตร์ทุกเรื่องออกเผยแพร่ในช่วงเวลาระหว่างปี ค.ศ. 2001-2018 ทางด้านการวิเคราะห์ข้อมูลใช้วิธีการพรรณา    ส่วนการค้นหาองค์ความรู้ตามวัตถุประสงค์ทั้งสองข้อ   ผู้วิจัยใช้ทฤษฎีการเล่าเรื่อง (Narrative) ทฤษฎีประเภทของภาพยนตร์ (Genre) และทฤษฎีการก่อการร้าย (Terrorism) เป็นกรอบในการวิจัย 

        ผลการวิจัยได้ข้อสรุปดังนี้

        1 การประกอบสร้างการก่อการร้ายในภาพยนตร์นานาชาติมีลักษณะดังนี้    1.1 ตัวละครในภาพยนตร์   สามารถแบ่งได้เป็นสองกลุ่มหลักคือ  กลุ่มตัวละครพระเอกซึ่งส่วนมากเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ และกลุ่มตัวละครผู้ร้ายซึ่งส่วนมากเป็นผู้ก่อการร้าย อย่างไรก็ตามมีภาพยนตร์บางเรื่องที่ประกอบสร้างให้ผู้ก่อการร้ายเป็นพระเอก  1.2 ความขัดแย้งในภาพยนตร์ สามารถแบ่งเป็นสามกลุ่มหลักได้แก่ ความขัดแย้งระหว่างชาติตะวันตกและพันธมิตรกับชาติอาหรับและมุสลิม   ความขัดแย้งอุดมการณ์ทางการเมือง   และความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับรัฐบาล  1.3 พื้นที่ในภาพยนตร์  สามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มคือ พื้นที่ในประเทศและพื้นที่นานาชาติ โดยภาพยนตร์ส่วนมากนำเสนอให้เห็นว่าผู้ก่อการร้ายมักปฏิบัติการเป็นเครือข่ายการก่อการร้ายข้ามชาติ       พื้นที่ก่อการร้ายส่วนใหญ่จึงเป็นพื้นที่นานาชาติ   1.4 เวลาในภาพยนตร์ ถูกประกอบสร้างขึ้นเป็นสองยุคคือ ยุคสงครามเย็น และยุคการก่อการร้ายสมัยใหม่ โดยภาพยนตร์ส่วนใหญ่เน้นการนำเสนอเหตุก่อการร้ายในยุคการก่อการร้ายสมัยใหม่  เนื่องด้วยมีความร่วมสมัยและเป็นการก่อการร้ายที่มียุทธวิธีหลากหลาย โดยการก่อการร้ายยุคสงครามเย็นผู้ก่อการร้ายมักทำงานเป็นขบวนการ ขณะที่ยุคการก่อการร้ายสมัยใหม่ผู้ก่อการร้ายสามารถก่อเหตุเพียงลำพัง (Lone Wolf)   1.5 มุมมองการเล่าเรื่อง ภาพยนตร์ที่นำมาศึกษามีการประกอบสร้างภาพยนตร์ด้วยมุมมองหลักสามมุมมอง ได้แก่  มุมมองจากผู้ก่อการร้าย   มุมมองจากเจ้าหน้าที่รัฐ  และมุมมองแบบผสมผสาน โดยภาพยนตร์ส่วนใหญ่ใช้มุมมองแบบผสมผสาน คือเล่าเรื่องผ่านมุมมองทั้งของผู้ก่อการร้าย   เจ้าหน้าที่รัฐ และมักมีการผสมผสานมุมมองของประชาชนด้วย      1.6 การจบเรื่อง ภาพยนตร์ส่วนใหญ่มีประกอบสร้างจุดจบของเรื่องแบ่งเป็นสองกลุ่มคือ จบเรื่องโดยกลุ่มผู้ก่อการร้ายถูกกำจัด   และจบเรื่องโดยผู้ก่อการร้ายไม่ถูกกำจัด โดยภาพยนตร์ส่วนใหญ่เลือกจบเรื่องโดยให้ผู้ก่อการร้ายถูกกวาดล้าง  เพราะเหตุผลที่ว่าภาพยนตร์ส่วนมากมองว่าการก่อการร้ายไม่ว่าจะด้วยวัตถุประสงค์ใดๆก็ตามล้วนเป็นภัยแก่ความสงบสุขของประชาชนดังนั้นการกำจัดผู้ก่อการร้ายจึงเป็นสิ่งที่รัฐจำเป็นต้องทำอย่างเด็ดขาด

        2 ปัจจัยที่มีผลต่อการประกอบสร้างการก่อการร้ายในภาพยนตร์นานาชาติ ประกอบด้วยปัจจัย สำคัญ 2 ด้านคือ ปัจจัยภายในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ และ ปัจจัยภายนอกอุตสาหกรรมภาพยนตร์   ซึ่งมีข้อสรุปดังต่อไปนี้   

        2.1 ปัจจัยภายในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ประกอบด้วยปัจจัยย่อยคือ   2.1.1 ปัจจัยด้าน Genre ของภาพยนตร์  โดยภาพยนตร์ที่นำมาศึกษาทั้งหมดมีการประกอบสร้างภาพยนตร์ตามแนวทางของ Genre ได้สามกลุ่มคือ กลุ่มภาพยนตร์สืบสวน  กลุ่มภาพยนตร์ชีวิต และกลุ่มภาพยนตร์บู๊ โดยภาพยนตร์ส่วนมากใช้การประกอบสร้างตามแนวทางของภาพยนตร์บู๊เป็นหลัก รองลงมาคือภาพยนตร์สืบสวน และภาพยนตร์ชีวิต ซึ่งการที่ภาพยนตร์นานาชาตินิยมสร้างตาม Genre ภาพยนตร์บู๊เป็นส่วนมาก ก็ด้วยเหตุผลทางการตลาดที่ภาพยนตร์บู๊สามารถเข้าถึงตลาดภาพยนตร์ในวงกว้างได้  อย่างไรก็ดีภาพยนตร์หนึ่งเรื่องนั้นสามารถผสมผสาน Genre ได้หลากหลาย  2.1.2  ปัจจัยด้านชนิดของเรื่องเล่า ผลจากการวิจัยพบว่า ภาพยนตร์นานาชาติมีการนำชนิดของเรื่องเล่าสองชนิดมาประกอบสร้างเป็นภาพยนตร์คือ เรื่องเล่าประเภทเรื่องจริง และเรื่องเล่าประเภทเรื่องแต่ง โดยภาพยนตร์ส่วนมากสร้างขึ้นจากเรื่องจริงเป็นหลัก เพราะเหตุก่อการร้ายในปัจจุบันมีปริมาณมากและเกือบทุกเหตุการณ์ล้วนมีความขัดแย้งที่น่าสนใจจนสามารถนำมาประยุกต์ผลิตเป็นภาพยนตร์ได้ไม่จำกัด  ขณะที่ภาพยนตร์ส่วนน้อยสร้างมาจากเรื่องแต่ง  แต่แม้สร้างขึ้นจากเรื่องแต่งแต่ภาพยนตร์กลุ่มนี้ก็มักมีการเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ที่เกิดจริงในสังคมด้วย

        2.2 ปัจจัยภายนอกในอุตสาหกรรมภาพยนตร์  ประกอบด้วยปัจจัยย่อยสองข้อดังนี้คือ   2.2.1  บริบททางศาสนา  หมายถึงบริบททางศาสนาที่มีผลต่อการประกอบสร้างภาพยนตร์ โดยผลจากการวิจัยพบว่าภาพยนตร์นานาชาติที่เกี่ยวกับการก่อการร้ายถูกประกอบสร้างขึ้นโดยผู้ผลิตจากประเทศสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งคือผู้ผลิตที่อยู่ในบริบทของศาสนาอิสลาม ซึ่งจะประกอบสร้างภาพยนตร์โดยนำเสนอทัศนะแบบอิสลามเป็นศาสนาที่รักสันติ และมักแสดงท่าทีเห็นใจกลุ่มก่อการร้ายที่ก่อเหตุรุนแรงเพราะมีแรงกดดันมาจากกลุ่มคนนอกศาสนา ส่วนภาพยนตร์อีกกลุ่มคือผู้ผลิตที่อยู่ในบริบทของศาสนาอื่น ซึ่งภาพยนตร์กลุ่มนี้มักไม่แสดงออกถึงประเด็นทางศาสนา แต่ให้ความสนใจไปที่เรื่องของความขัดแย้งทางอุดมการณ์และทางการเมือง    2.2.2  บริบททางการเมืองและสังคม  สามารถจำแนกผู้ผลิตภาพยนตร์ตามบริบทนี้ได้สามกลุ่มคือ            2.2.2.1 ผู้ผลิตในกลุ่มชาติสหรัฐและพันธมิตร กลุ่มนี้เป็นผู้ผลิตภาพยนตร์จำนวนมากที่สุด เพราะมีความเจริญด้านการผลิตภาพยนตร์มากกว่าประเทศอื่นๆ ภาพยนตร์ที่กลุ่มนี้ผลิตมักเกี่ยวข้องกับประเด็นการก่อการร้ายที่มีสาเหตุมาจากผู้ก่อการร้ายต่อต้านวัฒนธรรมตะวันตกและระบอบทุนนิยม รวมถึงต่อต้านการที่สหรัฐและพันธมิตรให้การสนับสนุนอิสราเอลในการก่อตั้งประเทศบนดินแดนปาเลสไตน์      2.2.2.2   ผู้ผลิตในกลุ่มชาติอาหรับและมุสลิม ชาติที่อยู่ในบริบททางสังคมและการเมืองกลุ่มนี้มักประกอบสร้างให้ สหรัฐและพันธมิตร เป็นผู้รุกรานชาติอาหรับและมุสลิม และนำความเสื่อมโทรมมาสู่ชาวอาหรับและมุสลิม อย่างไรก็ดีภาพยนตร์จากชาติกลุ่มนี้มักสอดแทรกแง่มุมที่ว่าการใช้ความรุนแรงไม่ใช่วิธีการเหมาะสมในการต่อต้านชาติตะวันตก   2.2.2.3  ผู้ผลิตในกลุ่มชาติเอเชีย  ภาพยนตร์ที่ผลิตจากกลุ่มนี้จะมีลักษณะต่างไปจากกลุ่มอื่นเพราะมีบริบททางสังคมและการเมืองที่แผกไปจากประเทศอื่นๆ ภาพยนตร์ในกลุ่มนี้จะเกี่ยวข้องเหตุก่อการร้ายในประเทศ  เป็นความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับรัฐบาลที่ปกครองประเทศ และมีการประกอบสร้างที่แสดงให้เห็นว่าการก่อการร้ายอาจเกิดเพราะประชาชนไม่พึงพอใจรัฐบาล หรืออาจเกิดจากการที่รัฐเป็นผู้สร้างสถานการณ์ก่อการร้ายขึ้นมาเอง

References

เกษม อัชฌาสัย. (2549) ก่อการร้ายทำลายล้างโลก. กรุงเทพ : หลักพิมพ์,หน้า 143 [Kasem Archasai. (2007) Terrorism Destroys the World. Bangkok : Lakpim.,p143]

เคลาส์, ดอดส์. (2557) ภูมิรัฐศาสตร์. จิตติภัทร พูนขำ แปล. กรุงเทพ :โอเพนเวิลด์ส.หน้า 251 [Klaus, Dodds. (2014) Geopolitics. Jittipat Poonkam , Trans. Bangkok : Openworlds., p251]

ชญานิน เตียงพิทยากร. (2562) “ Ten Year Thailand” สตาร์พิคส์. 54, (896) (มกราคม), หน้า 64 [Chayanin Tiangpittayakorn. (2019) “ Ten Year Thailand” Starpics. 54,(896) (January), p64 ]

ดลยา เทียนทอง (2550) ปฐมบทการก่อการร้าย รากเหง้า ความเป็นไป และพลวัต. กรุงเทพ :จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,หน้า 82. [Dollaya Tiantong. (2007) Terrorism : Origin and Its Dynamics. Bangkok : Chulalongkorn University, p82]

ทหารประชาธิปไตย (2561) “การก่อการร้าย” สยามรัฐ. 65, (23) 16-22 กุมภาพันธ์, หน้า 24. [Democratic Soldier. (2018) “Terrorism” Siamrath. 65, (23) Febuary,16-22.,p24 ]

สุภาค์พรรณ ตั้งตรงไพโรจน์. (2549) เจไอคืออะไร. กรุงเทพ:โอเพนบุกส์,หน้า 52 [Supapan Tangtongpairoj.(2006) What is J.I.? Bangkok :Openbooks., p52]

ศราวุฒิ อารีย์. (2550) การก่อการร้าย : มุมมองของโลกอิสลาม. กรุงเทพ:จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. หน้า 150 [Srawut Aree (2007) Terrorism in Islamic World’s Perspective. Bangkok : Chulalongkorn University.,p150]

เบน ดูเปร (2556) 50 คำตอบที่บอกว่าโลกคิดอะไร. สุริยา นภาพร. แปล กรุงเทพ : อัมรินทร์.หน้า 208. [Ben Dupre. (2013) 50 Big Ideas You Really Need to Know. Suriya Napaporn. Trans Bangkok : Amarin.p208]

Abadinsky, Howard. (2007) Organized Crime. Australia : Thomson Wadsworth.,p5

Burke, Roger Hopkins. (2009) An Introduction to Criminological Theory. London : Routledge.,p322

Gere, Francois. (2007) “Suicide Operation: Between War and Terrorism” The History of Terrorism. Gerrard Chaliand and Arnaud Blin. (Eds.) California : University of California Press.,p379

Gunaratna, Rohan. (2007) “Terrorism in Southeast Asia-Threat and Response” The History of Terrorism. Gerrard Chaliand and Arnaud Blin. (Eds.) Los Angeles : University of California Press, p421

Morgan, Matthew. (2009) “The Origins of the New Terrorism” Violence and Terrorism. Thomas J. Badey. (ed.) .Boston:Mcgraw-Hill.p9

Martin, Gus. (2013) Understanding Terrorism. London : Sage.p97

Pollard, Neal A. (2005) “Globalization’s Bastards:Illegitimate Non-State Actors in International Law” Networks, Terrorism and Insurgency. Robert T. Bunker. (ed.) New York : Routledge, p48.

White, Jonathan R. (2009) Terrorism and Homeland Security. Belmont : Wadsworth Cengage Learning.,p3

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2019-01-01