กลวิธีการสร้างสรรค์รายการอึ้งทึ่งเสียวของสถานีโทรทัศน์ช่อง 8
บทคัดย่อ
งานวิจัยเรื่องกลวิธีการสร้างสรรค์รายการอึ้งทึ่งเสียวของสถานีโทรทัศน์ช่อง 8 มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษากลวิธีการสร้างสรรค์รายการอึ้งทึ่งเสียวของสถานีโทรทัศน์ช่อง 8 และปัจจัยภายในและภายนอกที่มีผลต่อการกำหนดกลวิธีการสร้างสรรค์รายการอึ้งทึ่งเสียวของสถานีโทรทัศน์ช่อง 8 โดยใช้กรอบแนวคิดเกี่ยวกับกลวิธีการสร้างสรรค์รายการโทรทัศน์และรายการสารคดี แนวคิดปัจจัยที่มีผลต่อการสร้างสรรค์รายการ ทฤษฎีการกำหนดวาระข่าวสารและทฤษฎีพฤติกรรมผู้บริโภคและสิ่งดึงดูดใจต่อผู้รับสาร เป็นแนวทางในการศึกษาและวิเคราะห์ งานวิจัยชิ้นนี้เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพ โดยใช้การวิเคราะห์วิดีทัศน์รายการ (Document Analysis) การสัมภาษณ์แบบเจาะลึก (In-depth Interview) กับบุคคลที่เกี่ยวข้องในการกำหนดกลวิธีการสร้างสรรค์รายการ รวมทั้งการเก็บข้อมูลด้วยการสนทนากลุ่ม (Focus Group Interview) จากผู้ชมรายการเป้าหมาย
ผลการวิจัยพบว่ากลวิธีการสร้างสรรค์รายการอึ้งทึ่งเสียวของสถานีโทรทัศน์ช่อง 8 เริ่มต้นจากการกำหนดเนื้อหารายการให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย โดยจำแนกเรื่องราวเป็น 4 ประเภท คือกินแปลก วิถีชีวิตพื้นบ้าน ความสามารถคนและสถานที่แปลก ผสานกับการจัดวางตำแหน่งเรื่องที่น่าสนใจที่สุดไว้ในลำดับแรกของการออกอากาศทุกครั้ง มีการคัดเลือกพิธีกรที่เป็นนักร้อง นักแสดงเพื่อกระตุ้นและดึงดูดความสนใจจากผู้ชม มีการจัดทำงบประมาณโดยคำนึงถึงงบประมาณ 2 ประเภท คืองบประมาณการผลิตรายการและงบค่าจ้างทีมงานผลิต ทีมผลิตรายการใช้การหาข้อมูลแบบหลายมิติ ทั้งจากสื่อสิ่งพิมพ์ อินเทอร์เน็ตและการลงพื้นที่จริงเพื่อสำรวจ นอกจากนี้รายการอึ้งทึ่งเสียวยังใช้บทโทรทัศน์แบบเค้าโครงเพื่อความสะดวกใน การเปลี่ยนแปลงขณะถ่ายทำและใช้การเดินเรื่องโดยเจ้าของเรื่องเป็นผู้เดินเรื่อง รวมถึงมีการถ่ายทำแบบใช้มือถือกล้องถ่าย (Handheld) เป็นหลัก เพื่อสร้างความสมจริง สำหรับกลวิธีการถ่ายทำที่นิยมใช้ คือ การถ่ายทำแบบจัดฉาก (Setup) และการถ่ายซ้ำหรือทำซ้ำ (Re-act) รวมถึงการใช้กลวิธีการตัดต่อที่หลากหลาย เช่นการตัดต่อโดยใช้ภาพช้า (Slow-motion) การตัดต่อโดยใช้ภาพเร็ว (Fast Speed) การตัดต่อแบบเร่งเวลา (Time-lapse) และการดึงภาพให้ใหญ่ขึ้น (Zoom-In) ประกอบกับการใช้เสียงบรรยายเสียงเพลงและเสียงประกอบพิเศษที่เหมาะสมกับบรรยากาศของเรื่อง
สำหรับปัจจัยที่มีผลต่อการกำหนดกลวิธีการสร้างสรรค์รายการอึ้งทึ่งเสียวมีดังนี้ 1) ปัจจัยภายใน ได้แก่การจัดการด้านต่าง ๆ ทั้งการวางแผนการผลิต งบประมาณและการควบคุมคุณภาพรายการ ซึ่งมี การวางระเบียบและมาตรการไว้อย่างชัดเจน สามารถตรวจสอบได้ตลอดเวลา ประกอบกับการคัดเลือกทีมงานที่มีความชำนาญในการผลิตรายการสารคดีเป็นการเฉพาะ รวมถึงมีการใช้อุปกรณ์การทำงานที่ทันสมัย ทำให้ปัจจัยที่ควบคุมได้เหล่านี้ไม่ก่อให้เกิดปัญหาใด 2) ปัจจัยภายนอก เป็นสิ่งที่ไม่สามารถควบคุมได้ ฝ่ายบริหารรายการอึ้งทึ่งเสียวจึงมีนโยบายที่รัดกุมในการเฝ้าระวังและแก้ปัญหา ตั้งแต่การคัดสรรแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือและเรื่องราวที่ทันสมัยตรงใจผู้ชมเป้าหมาย เพื่อการสร้างความนิยมรายการทำให้ผู้โฆษณาหันมาสนใจและนำเงินมาลงทุนอย่างต่อเนื่อง มีการปลูกฝังจริยธรรมสื่อแก่ทีมงานเพื่อใช้เป็นแนวทางในการนำเสนอรายการ ให้อยู่ภายใต้กรอบของกฎหมายที่ควบคุมเนื้อหาในการออกอากาศ (Censor) มีการปรับการออกอากาศในหลายสื่อเพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมการรับชมของผู้ชมทั้งทาง ยูทูบ (Youtube) และเฟซบุ๊ก (Facebook) รวมถึงมีการศึกษารายการคู่แข่งเพื่อปรับตัวเองตลอดเวลา ด้วยองค์ประกอบเหล่านี้ทำให้รายการอึ้งทึ่งเสียวได้รับความนิยมอยู่ในอันดับต้นของสถานีโทรทัศน์ช่อง 8 มาตลอดระยะเวลา 4 ปี
References
ธีรภาพ โลหิตกุล. (2552). กว่าจะเป็นสารคดี. กรุงเทพฯ : อ่านเอาเรื่อง. [Thiraphap Lohitkun. (2009). Becoming Documentaries. Bangkok : An Ao Rueang.]
ยุทธนา ธรรมเจริญ. (2558). “ความหมายของพฤติกรรมผู้บริโภค”. การวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภคหน่วยที่ 1-7. นนทบุรี : มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. [Yutthana Thamcharoen. (2015). “Definition of Consumer Behaviors”. Consumer Behavior Analysis, Unit 1-7. Nonthaburi : Sukhothai Thammathirat University.]
สันทัด ทองรินทร์. (2550). “การบริหารการผลิตรายการโทรทัศน์”. การผลิตรายการโทรทัศน์เบื้องต้น หน่วยที่ 1-7. นนทบุรี : มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. [Santhat Thongrin. (2007). “Administration of Television Program Production”. Basic Television Program Production, Unit 1-7. Nonthaburi : Sukhothai Thammathirat University.
สุรพงษ์ โสธนะเสถียร. (2559). ทฤษฎีการสื่อสาร. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ระเบียงทอง. [Suraphong Sothanasathian. (2016). Theory of Communication. Bangkok : Rabiang Thong Printing House.]
หฤทัย ค้าขาย. (2554). บทบาทของรายการโทรทัศน์กบนอกกะลาต่อเยาวชนผู้ร่วมโครงการกบจูเนียร์. กรุงเทพฯ : คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. [Haruethai Khakhai. (2011). Roles of Kop Nok Khala Television Program towards the Youth in Kop Junior Project. Bangkok : Faculty of Journalism and Mass Communication, Thammasat University.]
McCombs, Maxwell. (2004). Setting The Agenda : The Mass Media and Public Opinion. London : Polity Press.
McQuail, Denis. (1994). Mass Communication Theory. London : Sage.