การเล่าเรื่องและการสะท้อนสังคมในภาพยนตร์ไทยที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ พ.ศ. 2553 - 2562
คำสำคัญ:
สังคมไทย, การเล่าเรื่อง, ภาพยนตร์บทคัดย่อ
การศึกษาวิจัยเรื่อง “การเล่าเรื่องและการสะท้อนสังคมในภาพยนตร์ไทยที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ พ.ศ. 2553 - 2562” มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาว่า ภาพยนตร์ไทยที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ พ.ศ. 2553 - 2562 มีการสะท้อนสังคมไทยในด้านต่าง ๆ ในลักษณะอย่างไร โดยศึกษาวิเคราะห์ผ่านรูปแบบและกลวิธีการเล่าเรื่องในภาพยนตร์ สำหรับการศึกษาวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) แบบวิเคราะห์ตัวบท (Textual Analysis) โดยใช้แนวคิดเรื่องการเล่าเรื่องในภาพยนตร์ (Narrative) แนวคิดเรื่องตระกูลภาพยนตร์ (Genre) และแนวคิดเรื่องปัญหาสังคม (Social Problem) โดยมีการเลือกกลุ่มภาพยนตร์ไทยที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ พ.ศ. 2553 - 2562 มาศึกษา จำนวน 10 เรื่อง
ผลการศึกษาวิจัยพบว่า ภาพยนตร์ไทยทั้ง 10 เรื่อง มีการสะท้อนสังคมไทยใน 3 ประเด็นหลัก คือ (1) ปัญหาทางสังคม ได้แก่ ปัญหาด้านศีลธรรม วัฒนธรรมและจิตใจ ปัญหายาเสพติด ปัญหาโสเภณี ปัญหาอาชญากรรม ปัญหาความไม่เท่าเทียมทางการศึกษา ปัญหาความผิดปกติและรักร่วมเพศ ปัญหาครอบครัว ปัญหาที่อยู่อาศัยและแหล่งเสื่อมโทรม รวมทั้งปัญหาสุขภาพอนามัยและโรคภัยไข้เจ็บ (2) ปัญหาทางการเมือง ได้แก่ ปัญหาการคอร์รัปชั่น ปัญหาของกลุ่มผลประโยชน์และกลุ่มอิทธิพล ปัญหาการแทรกซึมจากลัทธิคอมมิวนิสต์ และปัญหาสงคราม (3) ปัญหาทางเศรษฐกิจ ได้แก่ ปัญหาความยากจน และปัญหาด้านพลังงาน
สำหรับการศึกษาวิเคราะห์ถึงรูปแบบและกลวิธีการเล่าเรื่องในภาพยนตร์นั้น ผลการศึกษาวิจัยพบว่า ภาพยนตร์ไทยที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ พ.ศ. 2553 - 2562 มีการดำเนินเรื่องแบ่งเป็น 2 แบบคือ การเล่าเรื่องตามลำดับเหตุการณ์ และไม่ตามลำดับเหตุการณ์ รวมถึงมีการจบเรื่องที่ตัวละครประสบความสุข ความโศกเศร้า และจบเรื่องโดยไม่มีข้อยุติชัดเจน ส่วนแก่นเรื่องที่ผู้เล่าเรื่องต้องการจะสื่อไปยังผู้ชม ส่วนใหญ่สะท้อนสังคมในเชิงวิพากษ์วิจารณ์สังคมในด้านต่าง ๆ สำหรับความขัดแย้งในภาพยนตร์ มักนำเสนอความแย้งภายในจิตใจของตัวละคร ที่ทำให้ตัวละครลำบากใจในการตัดสินใจและการดำเนินชีวิต รวมทั้งความขัดแย้งระหว่างคนกับคน และความขัดแย้งระหว่างคนกับสังคม ที่มีความคิดหรืออุดมการณ์ที่แตกต่างกัน นอกจากนี้ภาพยนตร์ยังนำเสนอความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับพลังภายนอก ซึ่งเป็นภัยทางธรรมชาติต่าง ๆ สำหรับลักษณะของตัวละครนั้น ภาพยนตร์ที่นำมาศึกษามีการนำเสนอตัวละครใน 2 ลักษณะคือ ตัวละครที่มีลักษณะแบบมิติเดียวหรือแบบตายตัว และตัวละครแบบหลายมิติหรือมองเห็นได้รอบด้าน ส่วนฉากมักเป็นฉากที่เป็นสิ่งประดิษฐ์ และฉากที่เป็นการดำเนินชีวิตประจำวันของตัวละคร นอกจากนี้ยังพบฉากที่เป็นสภาพแวดล้อมเชิงนามธรรม ซึ่งมีลักษณะเป็นความเชื่อ ค่านิยม หรือความคิดของคนในสังคม สำหรับมุมมองในการเล่าเรื่อง ส่วนใหญ่มีมุมมองการเล่าเรื่องผ่านมุมมองของบุรุษที่หนึ่งมากที่สุด รองลงมาเป็นมุมมองการเล่าเรื่องจากบุคคลที่สาม และมุมมองแบบผู้รอบรู้หรือสัพพัญญู
References
กฤษดา เกิดดี. (2543). ประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ : การศึกษาว่าด้วย 10 ตระกูลสําคัญ. ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: พิมพ์คำ.
ลักษมณ พีรประภากร. (2555). การศึกษารูปแบบและแก่นความคิดในภาพยนตร์รางวัลออสการ์ สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรบัณฑิต สาขานิเทศศาสตร์และสารสนเทศ, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
สัญญา สัญญาวิวัฒน์. (2544). สังคมวิทยาองค์การ. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
สุวิมล วงศ์รัก. (2547). อัตลักษณ์และการเล่าเรื่องในภาพยนตร์ร่วมสร้างไทย-เอเชีย. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
อนุสรณ์ ศรีแก้ว. (2534). ปัญหาสังคมในภาพยนตร์ ของ ม.จ. ชาตรีเฉลิม ยุคล. วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต,สาขานิเทศศาสตร์,จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
Griffith, K. (1994). Narrative Fiction : An Introduction and Anthology. Fort Worth: Hartcourt Brace College.
Piazza, Jim & Kinn, Gail. (2014). Academy Awards : The Complete Unoffcial History. New York : Black Dog & Leventhal Publishers.
Prince, Stephen. (2004). Movies and Meaning : An Introduction to Film. Boston : Allyn and Bacon,
The Young Man. (2559). Oscar Issue : Oscar History. Film Maker. 4(44), 18-21.